วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อที่ ๒.อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า เป็นของเก่าที่เคยทำสืบต่อๆกันมา

อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า เป็นของเก่าที่เคยทำสืบต่อๆกันมา

นี่ก็เป็นพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าได้เตือนสติพวกเราเอาไว้ เพื่อให้พวกเรามีความสำนึกตัว มิใช่ว่าของเก่าจะถูกต้องและดีไปเสียทั้งหมด เรื่องเก่าเป็นประเพณีทำต่อๆกันมา ตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นของเก่าแก่ควรอนุรักษ์เอาไว้ ปู่ย่าตายายพ่อแม่พากันทำมาอย่างไร ลูกหลานก็พากันทำสืบทอดเอาไว้ จะพากันทำต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด การทำตามประเพณีเก่าๆ พวกเราก็ควรเลือกดูบ้างว่า อะไรควรทำตามก็รักษาเอาไว้ อะไรไม่ควรทำตามก็พากันละในสิ่งนั้นเสีย ไม่ควรทำตามอีกต่อไป ของเก่าที่ทำกันมา แม้ไม่มีสาระอะไร แต่ก็เป็นประเพณินิยมพากันทำมายาวนาน จะแก้ไม่ให้ทำในวิธีอย่างนั้นหากแก้ไม่ได้ก็ปล่อยกันไป เพราะถือว่าเป็นพิธีเก่าแก่ตั้งแต่โบราณทำติดต่อกันมา
ในสมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าจะเอาพระธรรมนำไปอบรมสั่งสอนในหมู่พุทธบริษัท ให้เข้าใจในหลักสัจธรรม พระพุทธเจ้าทรงทราบนิสัยในความเชื่อของคนยุคนั้นดี พระองค์ก็มีวิธีที่จะแก้ไขความเห็นเขาได้ ในยุคนั้นส่วนใหญ่คนมีนิสัยมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดในหลักความเป็นจริงอยู่ก็ตาม พระองค์จะมีอุบายสอนแก่ผู้มีความเห็นผิด ให้กลับใจเปลี่ยนนิสัยให้เกิดความเห็นถูกได้ แต่ก็มีหลายคนหลายลัทธิ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ได้เลย เช่น กลุ่มของครูทั้งหก หรือพวกลัทธิดาบสฤาษี หรือลัทธิอื่นๆจำนวนมาก พวกเหล่านี้มีวิธีปฏิบัติแบบเก่าๆที่สืบทอดต่อๆกันมา พระพุทธเจ้าก็ปล่อยให้เขาทำต่อๆกันไป

วิธีปฏิบัติเก่าๆของพวกดาบสฤาษี เขามีวิธีทำสมาธิให้จิตมีความสงบลงได้ แต่ก็ไม่รู้วิธีการฝึกสติปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักสัจจธรรมได้ ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าของพวกเราก็เคยได้ปฏิบัติกับกลุ่มดาบสมาก่อนแล้ว พระองค์ก็ทำให้จิตมีความสงบได้ถึงขั้นสูงสุดของสมาธิที่เรียกว่า อรูปฌาณ เป็นสมาธิที่มีความละเอียดมาก พระพุทธเจ้าได้สังเกตดูในวิธีทำสมาธิความสงบนี้ ว่าไม่ใช่แนวทางที่จะละอาสวะกิเลสได้ ไม่เป็นไปในทางที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในหลักสัจจธรรม ไม่เป็นไปในการตรัสรู้เข้าสู่มรรคผลนิพพานแต่อย่างใด
พระองค์ทรงรู้ได้ชัดอย่างนี้ จึงได้ลาดาบสทั้งสองนั้นไปเพื่อหาวิธีปฏิบัติแบบใหม่ ให้เป็นไปในการตรัสรู้ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงรู้แนวทางในการตรัสรู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์จึงนำเอาสมาธิที่พระองค์เคยกระทำมาแล้ว มาแยกขั้นตอนให้เข้ากันได้กับปัญญา สมาธิที่เข้ากับปัญญาได้ เรียกว่าสมาธิความตั้งใจมั่น สมาธิความสงบที่ละเอียดอ่อนลงลึกอย่างแนบแน่นแล้ว จะเอามาใช้เป็นคู่กับปัญญาไม่ได้เลย จึงปล่อยให้มีความสงบจนอิ่มตัวอย่างเต็มที่ แล้วจิตก็จะค่อยๆถอนออกมา ให้กำหนดเอาไว้ว่าจะให้อยู่ในสมาธิความตั้งใจมั่นที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ จึงจะน้อมเข้าไปเป็นคู่กับปัญญาได้ ให้พวกเราศึกษาขั้นตอนวิธีทำสมาธิให้ดี ถึงจะเป็นวิธีทำสมาธิแบบเก่าๆ ถ้ารู้วิธีในการทำก็จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติเป็นอย่างมากทีเดียว

ในยุคปัจจุบันนี้ วิธีการอบรมสั่งสอนจะเน้นหนักในวิธีเก่าๆ เอาหลักแบบอย่างของพวกดาบสฤาษีมากไป วิธีการฝึกสติปัญญาพิจารณาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมมีการสอนกันน้อยมาก จึงยากที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมด้วยปัญญาของตัวเองได้ ในบางครั้งก็เอาความรู้ที่ได้ศึกษาจากตำรามาพิจารณาอยู่บ้าง วิธีการอย่างนี้เป็นเพียงใช้ปัญญาตามสัญญาเท่านั้น วิธีการทำสมาธิก็เป็นของเก่า ความรู้ที่ศึกษาจากปริยัติมาก็เป็นของเก่า หากผู้มาตีความในวิธีทำสมาธิผิดไป ก็จะทำให้การทำสมาธิเกิดเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นได้

ให้เราศึกษาตีความในสมาธิให้เข้าใจ ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า สมาธิมีหลายวิธี เช่น สมาธิความตั้งใจมั่น สมาธิความสงบ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ในยุคนี้สมัยนี้สอนกันในสมาธิความสงบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สมาธิในรูปแบบอื่นเป็นอย่างไรไม่เข้าใจเลย เพียงพูดอยู่กับคำเก่าๆคือความสงบๆ ฟังกันที่ไหนก็มีแต่ สมาธิความสงบๆ ถึงจะเป็นสมาธิความสงบได้ก็ตาม ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิเกิดขึ้นได้ สมาธิความตั้งใจมั่นอันเป็นคู่กับปัญญา อันเป็นหลักสำคัญไม่พากันปฏิบัติตามแต่อย่างใด ในยุคนี้จึงมีผู้ไม่เข้าใจในวิธีการทำสมาธิให้เกิดสัมมาสมาธิ มีความตั้งใจมั่นชอบธรรม สมาธิความตั้งใจมั่นเป็นของคู่กันกับสติปัญญา ไม่พากันศึกษาดูแบบอย่างของพระพุทธเจ้าก็ถือว่าเราปฏิบัติธรรมตามแนวของพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าของเก่าไม่เป็นไปในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ปฏิบัติผิดโดยไม่รู้ตัว.