วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สมาธิวิธี


การทำสมาธิ ให้จิตมีความสงบนั้น เป็นส่วนสำคัญอยู่มาก จำเป็นต้องฝึกให้จิตได้มีความสงบอยู่เสมอจะสงบน้อยสงบมากนั้น จะบังคับให้เป็นไปตามใจชอบไม่ได้ หลาย ๆ ครั้ง นั่งสมาธิจิตไม่สงบเลยก็มีในช่วงที่จิตไม่สงบนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนอุบายในการทำสมาธิแล้วน้อมไปในการใช้ปัญญาพิจารณาแทน การใช้ปัญญาพิจารณานั้น ก็ได้อธิบายไว้แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะนิสัยไม่เหมือนกัน บางท่านก็หนักไปในการทำความสงบของสมาธิแล้วจึงใช้ปัญญาพิจารณาทีหลัง บางท่านก็หนักไปในทางปัญญา พิจารณาในสรรพสังขารต่าง ๆ ให้ลงสู่ไตรลักษณ์ แล้วจึงหวนกลับมาทำสมาธิทีหลังการทำสมาธิเราต้องศึกษาให้เข้าใจเพราะสมาธิมีทั้งขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ถ้าจิตต้องการพักในสมาธิขั้นละเอียดอยู่นาน ๆ ก็ต้องปล่อยให้จิตได้พักในความสงบเต็มที่อย่าไปบังคับให้จิตถอนตัวเมื่อมีความพอตัวในสมาธิแล้วจิตจะถอนออกจากสมาธิเองแล้วน้อมไปใช้ในการพิจารณาด้วยปัญญา การทำสมาธิมีหลายอุบายในครั้งพุทธกาลท่านอธิบายไว้ถึง 20 อุบาย แต่ทุกวันนี้มีนักปฏิบัติได้ทำกันอยู่แล้ว ส่วนคำบริกรรมจะต่างกันไม่สำคัญ จะนึกคำบริกรรมอะไรก็ได้ ข้อสำคัญให้มีจิตมีความสงบเท่านั้นเอง เช่น นึกคำบริกรรมว่า พุทโธ หายใจเข้านึกว่า พุทหายใจออกนึกว่าโธ ถ้านิสัยถูกกับคำบริกรรมอย่างนี้ก็ให้ตั้งใจนึกบ่อย ๆ จนมีความชำนาญตั้งจะได้อธิบายในวิธีฝึกสมาธิไว้ในที่นี้สักสี่อุบาย ก่อนจะนั่งสมาธิทุกครั้งให้พนมมือแล้วนึกคำอธิษฐานดังนี้ สาธุ ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนา เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า เพื่อบูชาคุณพระธรรม เพื่อบูชาคุณพระอริยสงฆ์ บูชาคุณบิดา บูชาคุณมารดา บูชาครูอุปัชฌาย์อาจารย์ กับทั้งผู้มีพระคุณทั้งหลายขอให้ข้าพเจ้าจงมีสติมีใจอันสงบรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมทั้งหลายด้วยเทอญขออย่างได้มีกรรมมีเวรแก่กันและกันขอให้ท่านทั้งหลายจงได้รับส่วนบุญจากข้าพเจ้าโดยอนุโมทนาเองเถิดเสร็จแล้วเอามือวางลงบนตักเอามือขวาวางทับมือซ้ายดำรงสติให้มีความมั่นคงภายในใจให้ทำความรู้สึกทำใจให้อยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ แล้วจึงกำหนดจิตทำสมาธิภาวนาต่อไป