วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อที่ ๖.อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า คาดคะเนไปตามเหตุผลปรัชญาเพียงอย่างเดียว

อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า คาดคะเนไปตามเหตุผลของปรัชญาเพียงอย่างเดียว

นี้ก็เป็นพุทธพจน์อีกอย่างหนึ่ง เราควรนำมาวินิจฉันวิเคราะห์ พิจารณาให้ดีตามหลักวิธีที่เขาคาดคะเนเอาไว้ว่า สิ่งนั้นควรเป็นอย่างนั้นสิ่งนี้ควรเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นการคาดคะเนไปตามหลักการอาจผิดถูกได้ ถ้าหากคาดการณ์เอาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง ตีความหมายเข้าข้างตัวเอง หาเหตุผลมาประกอบเพื่อเข้าข้างตัวเอง ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ย่อมผิดไปจากธรรมาธิปไตย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดความเข้าใจผิดทันที
ในยุคปัจจุบันนี้ ที่มีอุบายการปฏิบัติมีความแตกต่างกัน ก็เพราะตีความหมายในการคาดคะเน ในหลักธรรมเพื่อให้เข้ากันได้ กับความเห็นของตน ถ้าตนมีความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด การคาดคะเนก็จะผิดไปตามความเห็นของตนในทันที เพื่อให้มีความสัมพันธ์กลมกลืนไปในความหมายนั้นๆ และเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้ามาให้เป็นเรื่องเดียวกัน อ้างอิงเอาธรรมหมวดนั้นหมวดนี้บ้าง คาดคะเนเอาบ้าง ตีความหมายให้เข้ากันกับที่ตัวเองคาดคะเนเอาไว้ เหมือนบางศาสนา เขาก็มีอุบายวิธีตีความหมายในทางพระพุทธศาสนาแล้วเอามาประยุกต์ ใช้ให้เข้ากันกับศาสนาของเขาอย่างกลมกลืนกัน ตีความหมายโยงใยให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านที่มีสติปัญญาน้อย เกิดความเห็นคล้อยตามและเชื่อว่า ศาสนานั้นๆ มีหลักคำสอนเหมือนกันกับพระพุทธศาสนา เขาหารู้ไม่ว่า หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา อย่างถูกต้องแม้จริงนั้นเป็นอย่างไร

ฉะนั้นการคาดคะเนและตีความหมาย ไปตามเหตุผลนั้น ยังเป็นดาบสองคม แม้แต่ชาวพุทธด้วยกันเอง ก็ยังตีความหมายในหมวดธรรมนั้นๆ มีความแตกต่างกันไป เช่น คำว่า พุทโธ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ก็มีการตีความที่แตกต่างกันไป มีความแตกต่างกันอย่างไร ถ้าเรามีสติปัญญารอบรู้ตามความเป็นจริง จะรู้ได้ทันที เพราะมีชาวพุทธเราเข้าใจในความหมายการคาดคะเน ตีความกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน และไม่มีใครในยุคนี้สมัยนี้คัดค้านกันได้เลย และมีประโยคหนึ่ง ที่ตีความที่แตกต่างกันนั่นคือคำว่า “วิปัสสนา” นี้เป็นประโยคหนึ่ง ที่ชาวพุทธเราตีความหมายแตกต่างกันไป จึงทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสับสน เราเป็นชาวพุทธคนหนึ่งต้องพิจารณาให้ดี และก็มีหลายประโยคที่ชาวพุทธ ตีความที่แตกต่างกัน เราจะเชื่อถือเอาอุบายแนวทางใดเป็นหลักยืนตัว ขอให้เราตั้งสติให้ดี มีเหตุผลให้เป็นธรรมาธิปไตย เอาความเป็นจริงในธรรมเป็นเครื่องตัดสินใจ

ฉะนั้น การคาดคะเนเอาตามความเห็นของตัวเองมิใช่ว่าจะมีความถูกต้องไปเสียหมด ถึงจะมีเหตุผลมารองรับอยู่ก็ตาม ถ้าเหตุผลนั้นไม่เป็นธรรมก็จะเกิดความผิดพลาด จากหลักความจริงไปได้ เพราะความเข้าใจในทุกเรื่องจะมีหลักอนิจจัง ฝังอยู่ในตัวของมันเอง ตลอดไป ใครจะมีความเข้าใจอย่างไรถือว่าเป็นเรื่องของปุถุชน เหตุผลของปุถุชนกับเหตุผลของอริยชน จะเป็นผลออกมาแตกต่างกันอยู่แล้ว และในยุคสมัยนี้ เราจะมีความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ใครเป็นปุถุชนหรือริยชน จะมีเหตุผลอะไรมาเป็นตัววัด ดังข้าพเจ้าจะได้อธิบายเปรียบเทียบเอาไว้ เรื่องดูพระอริยเจ้านั้นดูยาก เพราะพระอริยเจ้าละนิสัยเดิมของตัวเองไม่ได้ นิสัยเดิมเป็นอย่างไร เป็นพระอริยเจ้าแล้วก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น จึงเปรียบเทียบได้ดังนี้
๑. น้ำลึก เงาลึก ๒. น้ำลึก เงาตื่น
๓. น้ำตื้น เงาลึก ๔. น้ำตื้น เงาตื้น
ข้อ ๑. คำว่า น้ำลึก หมายถึง จิตที่ได้บรรลุถึงแล้วซึ่งคุณธรรม เงาลึก หมายถึง เป็นผู้มีกิริยา มารยาทในการแสดงออกมาทางกายและวาจา มีความสำรวมดีหาที่ตำหนิไม่ได้เลย

ข้อ ๒. คำว่า น้ำลึก ก็หมายถึง จิตที่มีคุณธรรมที่เรียกว่า จิตเป็นพระอริยเจ้าแล้ว เงาตื้น หมายถึงกิริยาแสดงออกมาทางกายและวาจา ไม่มีความสำรวมเลย การทำการพูดก็เหมือนกับสามัญชนทั่วไปนิสัยไม่สมกับคำว่า สมณะ แต่อย่างใด ทั้งที่ใจได้บรรลุธรรมเป็นสามัญชนทั่วไปนิสัยไม่สมกับคำว่า สมณะ แต่อย่างใด ทั้งที่ใจได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จึงเรียกว่า น้ำลึก เงาตื้น

ข้อ ๓. คำว่า น้ำตื้น หมายถึงจิตที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมที่เป็นอริยเจ้า คำว่า เงาลึก หมายถึง นิสัย กิริยา มารยาทสำรวมดี การยืน เดิน นั่ง นอน หรือการพูกมาทางวาจาก็เป็น กัปปิยะวาจา เป็นคำพูดที่สำรวม ประชาชนได้รับฟังคำพูดแต่ละประโยค ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา

ข้อ ๔. คำว่า น้ำตื้น ก็หมายถึงใจยังไม่ได้บรรลุในคุณธรรม เงาตื้น หมายถึงกิริยามารยาทขาดการสำรวมอยากจะทำอะไรก็ทำไปตามใจชอบ ทั้งที่เป็นเรื่องนั้นไม่เหมาะสม ไม่เป็นกิจที่สมณะจะต้องทำ การพูดก็ไม่มีความสำรวม อยากจะพูดในเรื่องอะไร ก็ไม่คิดว่าคนอื่นจะเสียใจ พูดคำไม่สุภาพ หยาบคาย จะพูดดุด่าว่าใคร ก็ไม่คิดว่าคนอื่นจะเกิดความเสียหาย

ถ้าหากเอากลุ่มน้ำลึก เงาลึก และเอากลุ่มน้ำตื้น เงาลึก มาอยู่ร่วมกัน ทั้งสองกลุ่มนี้ จะมีกิริยามารยาทที่สำรวมเหมือนกัน ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ถ้าในลักษณะนี้ เราจะไม่รู้เลย กลุ่มไหนเป็นพระอริยเจ้าองค์จริงหรือองค์ปลอม ถ้าเอากลุ่มน้ำลึก เงาตื้น และเอากลุ่มน้ำตื้นเงาตื้น มาอยู่รวมกัน การแสดงออกด้วยกิริยา มารยาท ทางกายและวาจาจะไม่มีความสำรวมแต่อย่างใด ถ้าในลักษณะนี้ เราก็จะไม่รู้เลยว่า กลุ่มไหนเป็นพระอริยเจ้าองค์จริงหรือองค์ปลอม เช่นกัน ฉะนั้นการดูพระอริยเจ้าจะไม่รู้เลยว่า กลุ่มไหนเป็นพระอริยเจ้าองค์จริงหรืององค์ปลอมเช่นกัน ฉะนั้นการดูพระอริยเจ้าจะไม่รู้เลยว่า พระองค์ใด้ที่ได้บรรลุในคุณธรรมแล้ว และองค์ใดที่ยังไม่ได้บรรลุในคุณธรรม จึงดูได้ยาก รู้ได้ยากเพราะผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ไม่ได้ประกาศตัวว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้าแล้ว เราจึงไม่รู้ ส่วนมากจะพากันคาดคะเนเอาเอง
ถ้าครูอาจารย์ที่เรามีความเคารพกราบไหว้ มักจะได้รับคำพยากรณ์จากลูกศิษย์ว่า อาจารย์ของเราได้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ถ้าองค์ที่เราไม่เคารพเชื่อถือ ถึงท่านจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็จะไม่อยู่ในสายตา มิหนำซ้ำยังมีความปรามาสต่อท่านไปด้วย เหตุนั้นการคาดคะเนไปตามเหตุการณ์ จะเชื่อว่าเป็นของจริงไปเสียทั้งหมดไม่ได้ ในยุคบั้นปลายพระพุทธศาสนานี้ จะต้องมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นแน่นอน จะเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้แล้วทุกประการ