วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเลือกหัวหน้าโคให้ถูกตัว

เลือกหัวหน้าโคให้ถูกตัวนักปฏิบัติผู้แสวงหาธรรม จำเป็นต้องแสวงหาครูอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะแนวทางให้เพื่อจะได้วางพื้นฐานในการปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติธรรมต้องฝึกตัวเป็นนักสังเกตที่มีเหตุผลอย่าทำตนเป็นคนเชื่อง่ายใจเบา โดยขาดการพิจารณา ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในภายหลังเหมือนกับฝูงโคที่แสวงหาหัวหน้าโคเพื่อจะให้นำพาข้ามกระแสแต่หัวหน้าโคนั้นมีหลายตัวจะเลือกเอาหัวหน้าโคตัวไหนเป็นหัวหน้าพานำทางก็ฝูงโคนั้นและเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอาหัวหน้าโคเองถ้าหากเลือกได้หัวหน้าโคที่ไม่เคยข้ามกระแสมาก่อนหัวหน้าโคก็จะพาฝูงโคทั้งหลาย ลอยตามกระแสโค้งวกเวียนไปมาทำให้เสียเวลาและหมดกำลังใจที่จะลอยต่อไปในที่สุดก็จะพาฝูงโคทั้งหลายไปติดอยู่กับกระแสน้ำวังวน จะดิ้นรนจนหมดกำลังก็จะหาทางออกไม่ได้เลย ในที่สุดทั้งหัวหน้าโคและฝูงโคทั้งหลายก็จะพากันจมน้ำตายไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าเลือกได้หัวหน้าโคที่ตาดีมีประสบการณ์รู้จักช่องทางในการข้ามกระแสมาแล้วหัวหน้าโคก็จะพาฝูงโคทั้งหลายข้ามกระแสมาแล้ว หัวหน้าโคก็จะพาฝูงโคทั้งหลายข้ามกระแสให้ถึงฝั่งได้อย่างปลอดภัย เว้นเสียแต่ตัวที่ลอยแหวกแนวออกจากหัวหน้าโคไปเท่านั้น นี้ฉันใด นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายกำลังเตรียมตัวเพื่อจะข้ามกระแสของวัฏสงสารจำเป็นต้องแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องเพราะในยุคนี้ยังมีครูอาจารย์ผู้ที่ท่านได้ปฏิบัติผ่านกระแสโลกมาแล้วยังมีอยู่แต่จะให้ทั่วถึงเหมือนในครั้งพุทธกาลนั้นไม่ได้ เพราะในครั้งพุทธกาลมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขของสงฆ์และพร้อมด้วยพระอริยสาวกเป็นจำนวนมากและเคยผ่านกระแสโลกมาด้วยกันทั้งนั้นความรู้เห็นในสัจธรรมจึงเห็นเป็นสัจธรรมอันเดียวกันจึงได้อบรมสั่งสอนพุทธบริษัทเป็นอุบายเดียวกัน พระอริยเจ้าขั้นไหน ก็ได้สอนตามความสามารถของท่าน พุทธบริษัทได้ฟังธรรมจากองค์ไหนมาธรรมนั้นจะไม่มีความขัดแย้งกัน ไม่ได้ถกเถียงกันว่าองค์นั้นสอนผิด องค์นี้สอนถูก ทุกคนมีความรู้ความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมว่าจะมีความผิดพลาดจากหลักสัจจธรรม ไม่เป็นธรรมปรามาสคือความลูบคลำในธรรม การปฏิบัติของท่านเหล่านั้นจึงได้บรรลุมรรคผลได้อย่างรวดเร็วฉะนั้นการเลือกครูอาจารย์จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งถึงเราจะเลือกครูอาจารย์ได้แล้วก็ตามเราก็ยังต้องมาเลือกเฟ้นธรรมจากท่านอีกขั้นหนึ่งเพราะธรรมของท่านอธิบายไปนั้นมีหลายอุบายเราจะไปเอาทั้งหมดไม่ได้เราจำเป็นต้องเลือกหาอุบายให้ตรงกับจริตนิสัยตัวเองเหมือนยาแก้ไข้ที่มีอยู่เต็มร้านเราผู้จะไปซื้อยาก็จำเป็นต้องเลือกว่ายาประเภทไหนพอจะถูกกับโรคของเราได้ เราก็เอายาประเภทนั้นมากินโรคของเราจึงจะหายไปได้นี้ฉันใดนักปฏิบัติต้องใช้ปัญญาที่ฉลาดในการเลือกเฟ้นธรรมเพื่อให้เป็นธรรมสัปปายะคือธรรมเป็นที่สบายในการปฏิบัติธรรมมิใช่ว่าครูอาจารย์สอนอย่างไรก็เอาไปปฏิบัติทั้งหมดหรือครูอาจารย์อธิบายในธรรมขั้นสูง ขั้นละเอียด เราก็จะเอาอย่างท่านให้รู้ให้เห็นตามท่านนั้นไม่ได้เราต้องรู้จักขีดขั้นความสามารถของตัวเองเหมือนกันกับเด็กที่กำลังหัดอ่านหนังสือจะอ่านจะเขียนก็ผิด ๆ ถูก ๆ หลักวิชาต่าง ๆ ก็ยังไม่เคยศึกษาแล้วจะไปเรียนขั้นอุดมศึกษาหรือเรียนหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก การศึกษาข้ามขั้นตอนเกินไปมากอย่างนั้นจะเสียเวลาไปเปล่า ๆ จะไม่สำเร็จตามความตั้งใจได้เลยนี่ฉันใดนักปฏิบัติต้องรู้จักฐานของตัวเองก่อนจะรู้ธรรมขั้นสูงได้มิใช่เป็นของง่ายเหมือนเราเข้าใจกันฉะนั้นให้เราได้เลือกเอาธรรมขั้นพื้นฐานมาปฏิบัติไปก่อนจนเกิดความชำนาญแล้วจึงฝึกปฏิบัติธรรมขั้นสูงไปตามลำดับตามที่ความสามารถของเราพร้อมแล้วถึงเราจะมีความรู้ที่เรียนรู้จากปริยัติแล้วก็ตามเราต้องรู้จักการเลือกเฟ้นธรรมมาประกอบการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมกับจริตนิสัยตัวเอง การปฏิบัติจึงได้ผลมีความก้าวหน้าไปได้ดีถึงจะมีความรู้ในทางธรรมอยู่มากก็ตามแต่ธรรมบทนั้นยังมีหลายระดับชั้น ธรรมขั้นไหนเราควรนำมาปฏิบัติก่อนธรรมขั้นไหนเราควรนะมาปฏิบัติทีหลังธรรมบทไหนที่มีความจำเป็นกับความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบัน ขณะนี้ใจเรามีกิเลสตัณหาตัวไหนเข้ามาแอบแฝงและควรจะเอาธรรมบทไหนเข้ามาแก้ไขหักล้างให้กิเลสหมดไปเราต้องมีความฉลาดในสติปัญญาของตัวเองจึงจะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในใจตัวเองได้