วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อที่ ๔.อย่าเชื่อเพียงสักว่า อ้างมาจากตำราหรือคำภีร์

อย่าเชื่อเพียงสักว่า อ้างมาจากตำราหรือคัมภีร์

เป็นพุทธพจน์อีกข้อหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระญาณหยั่งรู้เรื่องศาสนาของพระองค์ว่า เมื่อบั้นปลายศาสนาของพระองค์จะมีผู้เขียนตำราอ้างไปว่า นี้เป็นคำสอนของเราตถาคตขึ้นมา แต่ละตำราจะมีความแตกต่างกันออกไป ใครมีความเห็นอย่างไรก็ตีความไปอย่างนั้น และเขียนเป็นตำราออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ละตำราจะเหมือนกันบ้างไม่เหมือนกันบ้าง ในบางตำราจะไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ในบางตำราก็มีความถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เมื่อพุทธบริษัทนำไปปฏิบัติ ก็จะให้ผลเป็นไปในมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง มีทั้งพระและฆราวาสเขียนตำราขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เมื่อตำราไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ที่นำไปศึกษาก็เกิดความสับสน จับต้นชนปลายไม่เข้าใจเลยว่า ตำราไหนผิดตำราไหนถูก แต่ละตำราก็อ้างอิงว่า เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ผู้อ่านที่มีสติปัญญาน้อยก็ปักใจเชื่อไปว่าตำรานี้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เพราะถือว่าตำราคัมภีร์นี้เป็นของเก่าแก่ ไม่กล้าที่จะแก้ไขเพิ่มเติม นักปราชญ์ยุคใหม่ได้เขียนตำราออกมา แล้วนำไปอบรมสั่งสอนต่อๆกันไป ส่วนมากจะเน้นหนักในวิธีทำสมาธิเพื่อให้จิตมีความสงบ เมื่อจิตมีความสงบแล้วจะเกิดปัญญาขึ้น ที่ผู้เขียนตำราหรืออบรมสั่งสอนกันอยู่นั้น แสดงว่าไม่ได้อ่านประวัติเดิมของพระพุทธเจ้าเลย ในครั้งนั้นพระองค์ได้ไปฝึกสมาธิกับดาบสทั้งสองอยู่นานร่วมปี พระองค์ก็ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นแต่อย่างใด จากนี้ไปให้เราอ่านพุทธประวัติให้ดี มีเหตุผลในการอ่านให้เข้าใจ

พระพุทธองค์ได้สร้างบารมีมาด้วยปัญญาธิกะ พระองค์มีปัญญาพร้อมแล้วอย่างสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อพระองค์ทำสมาธิอยู่กับดาบสทั้งสองนั้น พระองค์ก็ทำให้จิตมีความสงบอย่างเต็มที่ ไม่มีประวัติว่าปัญญาได้เกิดจากความสงบของสมาธิแต่อย่างใด ที่เขียนตำราไปและสอนกันไปอย่างไร้เหตุผล หากมีคนถามว่า เหตุใดท่านจึงสอนเช่นนี้ ก็จะตอบว่า ตำราเขียนไว้อย่างนี้ในทันที หากมีคำถามอีกว่า ตำรานั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็จะตอบไปว่า ไม่รู้ นี้คือสอนกันไปโดยไม่รับผิดชอบ ทำให้ชาวพุทธมีจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดในคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากทีเดียว ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ศาสนาของเราตถาคตจะเสื่อมก็เพราะพุทธบริษัททำให้เสื่อม ศาสนาของเราตถาคตจะมีความเจริญก็เพราะพุทธบริษัททำให้เจริญ ในยุคนี้สมัยนี้พระพุทธศาสนาเสื่อมลงหรือเจริญขึ้น ให้เราพิจารณาตัวเองว่า เราเป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมหรือทำให้พระพุทธศาสนาเจริญ ให้เราสังเกตดูตัวเราเองว่าใจเรามีความหนักแน่นหรือไม่หนักแน่นในพระพุทธศาสนาเพียงใด ในตำราคัมภีร์ที่เราอ่าน เราต้องอ่านด้วยเหตุและผล มีสติปัญญาในการอ่าน วิจัย วิเคราะห์ ใคร่ครวญ ตรึกตรองให้ดี เพราะทีทั้งหนังสือใหม่และหนังสือเก่า ถ้าอ่านตำราไม่มีปัญญา ก็จะพากันเชื่อแบบงมงายต่อไป

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อย่าได้เชื่อเพียงสักว่านี้ อ้างมาจากตำราหรือคัมภีร์ ในความหมายนี้มีความชัดเจนมาก ทำไมพวกเราจึงไม่เอามาพิจาณาดูบ้าง พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อโดยผูกขาดในตำราเพียงฝ่ายเดียว พระพุทธองค์ต้องการให้เรามีความมั่นใจในเหตุผลที่เป็นธรรมาธิปไตยมาเป็นหลักประกัน ให้รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาของเราเอง มิใช่ว่าตำราว่าอย่างไรก็เชื่อกันไปอย่างนั้น หรือครูอาจารย์สอนอย่างไรก็เชื่อไปอย่างนั้น เช่นสอนว่า ทำสมาธิไปเถอะ เมื่อจิตมีความสงบแล้วจะเกิดปัญญาขึ้น ในสมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้หรือไม่ ถ้าเราอ่านประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติของพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายในสมัยครั้งพุทธกาล มีความเข้าใจดีแล้ว จะนำเอาอุบายนั้นไปปฏิบัติจนได้บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลตามกำลังบารมีที่ได้บำเพ็ญมา ในสถานที่ใดมีพุทธบริษัทได้มาฟังธรรม แล้วพระพุทธเจ้าจะจะยกสัจธรรมที่เป็นจริงขึ้นมาอธิบายให้พุทธบริษัทใช้สติปัญญาพิจารณา ให้รู้เห็นตามหลักความจริงนั้นๆ จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าในขณะนั้น

อุบายธรรมของพระพุทธเจ้าที่นำมาอบรมสั่งสอนนั้น เป็นอุบายให้คนเปลี่ยนความเห็นผิดเป็นจุดแรก เพราะนิสัยเดิมของคนเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดในหลักความจริงตลอดมา ฉะนั้นพระองค์จึงมีอุบายสอนให้มีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ ให้มีความรู้เห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เรียกว่าปัญญาความเห็นชอบ ให้พวกเราได้ศึกษาในหมวดธรรมที่เรียกว่ามรรค ๘ ซึ่งเป็นหมวดธรรมที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในมรรค ๘ นั้น พระองค์จะทรงยกเอาสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบเป็นหลักยืนตัวเอาไว้ ดังที่พระองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมรวมอยู่ในเท้าช้างเท่านั้น นี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย หมวดธรรมทั้งหลาย ย่อมมารวมลงในสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบนี้เท่านั้น

ขอให้พวกเราชาวพุทธทั้งหลาย พากันศึกษาประวัติความเป็นมาของพระอริยเจ้าทั้งหลายในสมัยครั้งพุทธกาลให้เข้าใจ ในครั้งนั้นพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีทั้งห้าเป็นกลุ่มแรก และกลุ่มอื่นๆอีกมากมาย แต่ละกลุ่มพระองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องของความจริง ความถูกต้องชอบธรรม ให้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบตามความเป็นจริงก่อนทุกครั้ง แม้พระองค์ทรงแสดงธรรมให้แก่ฆราวาส พระองค์ก็ต้องแสดงธรรมตามความเป็นจริงก่อนทุกครั้ง ให้ผู้ฟังเปลี่ยนจากความเห็นผิดกลับมาเป็นความเห็นถูก นี้คือจุดยืนถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าต้องการในขั้นเริ่มต้น ถ้าเปลี่ยนความเห็นผิดไม่ได้ ถึงจะแสดงธรรมไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เรียกว่าตัวส่งตัวรับเข้ากันไม่ได้ จึงยากในการอบรมสั่งสอน ฉะนั้น สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

หลายท่านที่อ่านหนังสือข้าพเจ้าแล้ว มีความเข้าใจว่า หลวงพ่อทูลไม่ได้สอนในวิธีการทำสมาธิ นี่แสดงว่าท่านผู้นั้นอ่านหนังสือหลวงพ่อทูลไม่เข้าใจ เพราะท่านเหล่านี้มีการทำสมาธิเพียงอย่างเดียว เพราะได้รับความรู้มาจากครูผู้สอนมา มีแต่วิธีทำสมาธิเท่านั้น และมีความเชื่อตามครูผู้สอนไปว่า เมื่อจิตมีความสงบดีแล้วจะเกิดปัญญาขึ้น นี้คือความเห็นสมัยใหม่ ส่วนหลวงพ่อทูลอยากให้คนเข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นหลักดั้งเดิมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว พระพุทธเจ้าต้องการให้มีปัญญาความเห็นชอบ เมื่อมีปัญญาความเห็นชอบเป็นหลักที่มั่งคงแล้ว การทำสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ ทำให้จิตมีความสงบตั้งมั่นในสมาธิได้เร็ว ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิเสธในการทำสมาธิแต่อย่างใด ใครจะมีคำบริกรรมทำสมาธิให้จิตมีความสงบตั้งมั่นได้ในระดับไหนก็ทำกันไป เพราะการทำสมาธิจะทำให้เกิดกำลังใจ เพื่อจะเป็นอุบายหนุนปัญญาได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสมาธิเสริมปัญญา ให้มีความเฉียบแหลมมากขึ้น ที่ว่าหลวงพ่อทูลปฏิเสธนั้น คือปฏิเสธในคำว่าทำให้เกิดปัญญา นั่นคือ ทำสมาธิจิตมีความสงบดีแล้ว จะไม่ทำให้เกิดปัญญาแต่อย่างใด เพราะพื้นฐานของปัญญาเรายังไม่รู้เรื่องอะไร ถึงจะทำสมาธิมีความสงบได้ก็จะเป็นสมาธิหัวตอ จะต่อเชื่อมโยงไปสู่ปัญญาไม่ได้เลย จะทำสมาธิเพื่อเสริมปัญญาได้ ผู้นั้นต้องฝึกทางปัญญาความเห็นชอบเป็นฐานรองรับไว้ก่อน เมื่อทำสมาธิจิตมีความสงบตั้งมั่นได้แล้ว ก็น้อมไปสู่ปัญญาเชื่อมโยงต่อกันได้เลย จะง่ายต่อการปฏิบัติและมีความก้าวหน้าในทางที่ถูกต้องชอบธรรม

จงศึกษาให้เข้าใจว่า สมถะ วิปัสสนา ทั้งสองนี้เป็นของคู่กัน เป็นอุบายหนุนซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่าปัญญาเสริมสมาธิ สมาธิเสริมปัญญา เพราะนิสัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางท่านใช้ปัญญามากทำสมาธิน้อย บางท่านใช้ปัญญาน้อยทำสมาธิมาก บางท่านใช้ปัญญาและทำสมาธิเสมอกัน เพื่อให้เป็นไปตามนิสัยแต่ละท่าน เพื่อความสะดวกสบายไม่ต้องฝืนนิสัยตัวเอง เช่นผู้มีนิสัยปัญญาวิมุติ จะใช้ปัญญามากกว่าการทำสมาธิ ผู้มีนิสัยเจโตวิมุติ จะใช้สมาธิมากกว่าการใช้ปัญญา การทำสมาธิให้จิตมีความสงบเพียงอย่างเดียว การภาวนาปฏิบัติจะไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด จะวกวนเวียนไปมาอยู่ที่จุดเดิม คือความสงบเหมือนคนพายเรืออยู่ในสระ จะพายเรือวนไปเวียนมาหาทางออกไม่ได้เลย ถึงจะมีประตูเปิดกว้างอยู่ก็ไม่เห็นช่องทางที่จะออกไป หรือเหมือนมีปากกาอยู่ในมือ แต่ไม่มีกระดาษที่จะเขียน หรือมีกระดาษให้เขียน แต่เขียนหนังสือไม่เป็น ปากกากระดาษก็ไม่มีความหมายอะไร

นี้ฉันใด ถึงใจจะมีความสงบอยู่ก็ตาม กำลังใจที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ ก็มีแต่ความยินดีพอใจในความสงบเท่านั้น อีกไม่นานกำลังใจที่เกิดจากสมาธิก็จะเสื่อมไป ไม่ได้ประโยชน์อะไร จะไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงในสัจธรรมได้เลย เมื่อสมาธิเสื่อมลง ก็นึกคำบริกรรมทำสมาธิให้จิตมีความสงบอีก แล้วเสื่อมไปอีก วกวนซ้ำซากอยู่อย่างนี้ จะไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติแต่อย่างใด ขอให้พวกเราได้ศึกษาในหมวดมรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้จัดหมวดหมู่เอาไว้แล้ว เป็นอุบายเปลี่ยนความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดความเข้าใจผิดในหลักความจริง แต่เรามาฝืนความเป็นจริง เพื่อให้ได้ตามที่ใจเราชอบ ถ้าไม่ได้ตามใจที่ต้องการก็จะเกิดความทุกข์ใจ นี้คือความเห็นผิดความเข้าใจผิดในหลักความเป็นจริง

ถ้าความเห็นผิดเป็นต้นเหตุ ก็จะเกิดความคิดผิดตามมา วาจาที่พูด กายที่ทำในสิ่งใด ก็จะเป็นการพูดผิดทำผิดเรื่อยไป ถ้าลบล้างความเห็นผิดให้หมดไปจากใจไม่ได้ เมื่อไปทำสมาธิ กำลังใจที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบก็จะมาบวกกันกับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดที่มีอยู่เดิมก็จะเกิดเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นที่ใจ จะทำให้เกิดความไม่ปกติ จะมีความเพียรก็เป็นความเพียรที่ผิดปกติ จะมีสติระลึกถึงในสิ่งใดก็ระลึกได้ผิดปกติ จะเกิดมีปัญหาในการภาวนาปฏิบัติที่เป็นผลไม่ปกติเกิดขึ้น ที่พูดกันว่า กรรมฐานแตก หรือเป็นสัญญาวิปลาสภาวนาปฏิบัติเกิดเป็นบ้า ก็เพราะเหตุที่เป็นมิจฉาเดิมไม่ได้แก้ไขนั้นเอง พระพุทธเจ้าจึงให้แก้ไขความเห็นผิดให้หมดไปจากใจ ให้ตั้งหลักสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบตามหลักความเป็นจริงให้มั่นคง คำว่าความเป็นจริงหมายถึงความจริงที่เป็นไปในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาด้วยปัญญารอบรู้สิ่งที่เป็นไปตามไตรลักษณ์นี้อยู่ นั้นคือตั้งหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม

ถ้าตั้งสัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบมีความมั่นคงภายในใจแล้ว ความคิดพิจารณาในสิ่งใด ก็มีความคิดที่ถูกต้องชอบธรรม จะพูดในเรื่องอะไร จะทำในสิ่งใด จะหาเลี้ยงชีพอย่างไร ล้วนแล้วแต่มีความชอบธรรม จะมีความเพียรในสิ่งใดก็เป็นความเพียรที่ชอบธรรม สติระลึกในสิ่งใดก็เป็นความระลึกที่ชอบ ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง จะทำสมาธิก็มีความตั้งใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ทั้งหลาย จะเป็นอารมณ์แห่งความรัก อารมณ์แห่งความชัง อารมณ์ที่ชอบใจ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ไม่มีความหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นๆ นี้คือปัญญารอบรู้ตามความเป็นจริง จึงไม่มีอารมณ์สิ่งใดมาทำให้ใจเกิดความเห็นผิดไปได้ ฉะนั้นความเห็นผิดและความเห็นถูกทั้งสองนี้ จึงจำเป็นที่เราต้องศึกษาให้ใจได้รู้ว่า ความผิดและความถูกต่างกันอย่างไร แต่ละอย่างให้ผลเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจในสิ่งที่ผิด ก็จะไม่รู้ว่าความถูกเป็นอย่างไร ถ้าไม่รู้จักความชั่ว ก็ไม่รู้ว่าจะเอาความดีมาจากไหน ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจในตำราและคัมภีร์ที่ผิด จะหาเอาตำราและคัมภีร์ที่ถูกต้องชอบธรรมไม่ได้เช่นกัน

นี่เองที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นห่วงหมู่พุทธบริษัทในช่วงบั้นปลายพระพุทธศาสนา ก็หมายถึงยุคของพวกเราในปัจจุบันนี้เอง พวกเราเคยได้อ่านในตำราและคัมภีร์มามากแล้ว จะได้รู้ความแตกต่างกันหลายตำราทีเดียว หรือได้รับฟังวิธีปฏิบัติแต่ละสำนักแต่ละครูอาจารย์ก็มีความแตกต่างกัน พวกเราผู้อ่านจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ว่าตำราไหนผิด คัมภีร์ไหนถูก พวกเราก็พอจะเลือกเอาตำราที่ถูกได้ ถ้าเลือกได้ตำราและคัมภีร์ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เราก็จะได้รับข้อมูลในหมวดธรรมที่เป็นจริง เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะได้รับผลถูกต้องตามที่เราต้องการ ถ้าเป็นหนังสือปรัมปราที่พากันเขียนขึ้นด้วยการสุ่มเดา เมื่อเอามาปฏิบัติก็จะเกิดผลที่ไม่ดีตามมา ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการให้พวกเราพึ่งตัวเอง หมายถึงให้พวกเราได้ฝึกสติปัญญาและแนวความคิดเป็นของตนเอง อย่าลอกเลียนแบบเอาจากตำราหรือเอาความรู้จากผู้อื่นมากนัก เหมือนกับการเขียนกระทู้ธรรม คำเฉลยในกระทู้นั้น ถือว่าเป็นตำราแบบอย่าง เราไม่ควรที่จะเขียนลอกเอาตามคำเฉลยนี้มาเป็นความรู้ของตัวเอง เราต้องฝึกสติปัญญาความรอบรู้เป็นของเฉพาะตัวเท่านั้น จึงจะสมกับคำว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน เราต้องฝึกสติปัญญาให้เกิดขึ้นกับใจเราให้ได้

มีนักปราชญ์ท่านให้คติธรรมเอาไว้ว่า การปฏิบัติอย่าทิ้งตำรา และอย่าเอาตามตำรา คำว่าอย่าทิ้งตำราและอย่าเอาตามตำราหมายความว่า ตำรานั้นเป็นต้นแบบตัวอย่าง เป็นหลักอ้างอิงได้เป็นอย่างดี ให้เราพิจารณาตั้งข้อสังเกตว่า ตำราหรือคัมภีร์นั้น เป็นความรู้ของผู้มีสติปัญญานำมาเขียนเอาไว้ ให้ทำความเข้าใจแก่ตนเองว่า เราต้องฝึกสติปัญญาขึ้นมาเอง ความรู้และปัญญาของเราก็ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับตำรา ถึงสำนวนและประโยคจะมีความแตกต่างกันไปบ้างก็ไม่เป็นไร ข้อสำคัญในความหมายให้เป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้
ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนพระโปฐิละ ที่แบกใบลานเปล่า ถึงจะเรียนรู้จดจำมาจากตำรา ก็ถือว่าเป็นความรู้ของผู้อื่น จะเอามาแก้ปัญหาภายในใจของตัวเราไม่ได้เลย ฉะนั้นเราต้องฝึกสติปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเรา แล้วเอามาแก้ปัญหาของตัวเราเอง จึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ดังคำว่า หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง หมายความว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากความเห็นและความคิดในเรื่องใด เราต้องใช้ปัญญาเรามาเป็นอุบายแก้ไข ให้ปัญหาทั้งหลายหมดไปจากใจให้ได้

ฉะนั้นการปฏิบัติเราต้องพึ่งตัวเอง พึ่งสติปัญญาความสามารถของตัวเอง อย่าเป็นนิสัยลอกเลียนแบบอย่างของคนอื่นมากนัก เช่น มรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้เรียงลำดับไว้แล้ว ถ้าจัดให้เป็นสิกขา น่าจะออกมาในรูปแบบ ปัญญา ศีล สมาธิ เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ที่พวกเราได้รู้กันมาจากตำรานั้น เพียงเป็นหลักสูตรในภาคปริยัติเท่านั้น เมื่อจะเอามาปฏิบัติต้องเอาตามหลักเดิม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้แล้ว เรียกว่า ปัญญา ศีล สมาธิ หลักปัญญาต้องนำหน้า เช่น ปัญญา ๓ คือ สุตฺตมยปัญญา จินฺตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา มีความชัดเจนว่า สุตฺตมยปัญญาเป็นปัญญาในภาคการศึกษา เช่นการศึกษาในหมวดศีล ๕ ศึกษาในหมวดศีล ๘ หรือหมวดศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของพระเณร จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจในข้อห้ามนั้นให้ดี จึงรักษาศีลในหมวดนั้นๆต่อไป หรือจะทำสมาธิแต่ละวิธี ก็ต้องมีปัญญาศึกษาในหมวดสมาธินั้นๆให้เข้าใจจึงจะทำสมาธิต่อไปได้ เฉพาะหมวดศีล หมวดสมาธิ เป็นหลักปริยัติ ต้องใช้ปัญญาศึกษาให้เข้าใจ หรือธรรมะที่จะนำมาเป็นอุบายในการปฏิบัติ ก็ต้องศึกษาในหมวดธรรมนั้นๆให้รู้ความหมาย จึงเอาหมวดธรรมนั้นมาปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นพวกเราต้องเอามรรค ๘ อันเป็นหมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในสมัยครั้งพุทธกาล มีพุทธบริษัทปฏิบัคิธรรมมรรค ๘ พากันได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าเป็นจำนวนมาก ในยุคนี้ ถ้าพวกเราเอาวิธีปฏิบัติตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้า พวกเราก็จะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเหมือนในครั้งพุทธกาลเช่นกัน