วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แนวทางปฎิบัติภาวนา.....โดยหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

แนวทางปฏิบัติ..ภาวนา

คำปรารภ
...หนังสือแนวทางปฏิบัตินี้ เป็นเล่มแรกที่ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้น ในปี ๒๕๒๕ ณ วัดป่าหนองสองห้อง ต. ค่ายบกหวาน อ. เมือง จ. หนองคาย มีคณะศิษยานุศิษย์ ได้จัดพิมพ์เป็นธรรทานไปแล้วหลายครั้ง หนังสือนี้ผู้เขียนได้รวบรวมโดยย่นย่อ เป็นอุบายวิธีแนวทางปฏิบัติเพียงสั้นๆ ก็เพื่อให้นักปฏิบัติเข้าใจได้ง่าย มีอุบายวิธีการทำสมาธิและอุบายการพิจารณาด้วยปัญญา เพื่อวางพื้นฐานของวิปัสสนาไว้ในขั้นต้น วิปัสสนานั้นถ้าหากไม่ปูพื้นฐานการพิจารณาด้วยปัญญาไว้ วิปัสสนาก็ไม่มีช่องทางที่จะเกิดขึ้นได้เลย เหมือนกันกับผู้ที่ท่านมีความรู้ เรียนจบปริญญา ด็อกเตอร์ ไปแล้ว ท่านผู้นั้นก็ต้องได้ผ่านความรู้ในขั้นต้นคือ ก. ข. มาแล้วฉันใด ผู้ที่ท่านปฏิบัติรู้เห็นในสภาวธรรม และสัจธรรมตามความเป็นจริง ท่านเหล่านั้นก็ต้องได้ผ่านปัญญาในขั้นพื้นฐานนี้ไปฉันนั้น ฉะนั้นขอให้นักปฏิบัติจงได้วางพื้นฐาน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ไว้ ให้มีความเห็นชอบ และดำริใคร่ครวญตรึกตรองตามเหตุและปัจจัยในสัจธรรมนั้นตามความเป็นจริง เพื่อให้จิตได้รู้ยิ่ง เห็นจริงตามสภาวะธรรม
....พร้อมนี้ จึงขอขอบใจในศิษยานุศิษย์ที่ได้จัดพิมพ์หนังสือแนวทางปฏิบัติเล่มนี้ขึ้นโดยความบริสุทธิ์ใจ และขออนุโมทนาในเจตนาที่เป็นธรรมนี้ ขอให้ทุกท่านจงประสบความสำเร็จในผลของการปฏิบัติธรรมนี้โดยฉับพลันเทอญ.

...
หัวข้อ
-หลักภาวนา ๒ อย่าง

-วิธีกำหนดคำบริกรรมและประสานลมหายใจ
-อุบายดูกายรู้กายในสมถะ
-อุบายวิธีจับหลักภาวนาเบื้องต้น
-ปัญญาประสานกายประสานใจ
-วิธีกำหนดรู้ใจและอารมณ์ของใจ
-การพิจารณากายและอารมณ์ของใจ
-ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์
-การดำเนินตามมรรควิธี

หลักภาวนา ๒ อย่าง

....บัดนี้จะได้อธิบายตามหลักวิธีภาวนาทั้ง ๒ อย่าง คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา หลักภาวนาทั้ง ๒ อย่างนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน มีจุดมุ่งหมายคือทำให้ใจมีความสงบเหมือนกัน ผิดแต่อุบายการทำเท่านั้น คำว่า สมถะ คือ อุบายยังใจให้สงบอยู่ในความปกติของใจ คือมีอุบายโน้มน้าวให้ใจเข้ามาพักผ่อนนั่นเอง ลักษณะให้ใจเข้ามาสู่ความสงบได้นั้น จึงขอแยกออกเป็น ๒ วิธี คือ
....๑. กำหนดคำบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบกับลมหายใจ มีสติกับผู้รู้ประสานลมหายใจกับคำบริกรรมเท่านั้น
....๒. ให้สติกับผู้รู้ กำหนดรู้กายส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นนิมิตเครื่องหมาย เพื่อไม่ให้ใจออกไปแส่ส่ายในอารมณ์ภายนอก
....ต่อไปนี้จะอธิบายหลักของสมถภาวนา ส่วนวิปัสสนาภาวนาจะได้อธิบายในตอนท้าย เริ่มต้นก่อนที่จะภาวนาทุกครั้ง ต้องชำระกายชำระใจให้สะอาด พร้อมทั้งสถานที่ที่เราจะนั่งภาวนา เพื่อเป็นอุบายตัดความกังวลที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง เพื่อจะได้ตั้งใจภาวนาให้สะดวกโดยไม่มีสิ่งใดขัดข้องภายในใจ อันเป็นเหตุให้เกิดความระแวงสงสัยในเรื่องส่วนตัว เราจะภาวนาเพื่อสำรวมใจให้อยู่เป็นปกติภายในใจ และไม่มีภาระใดๆส่วนภายนอกที่จะต้องทำ และไม่มีอารมณ์ใดๆภายในใจที่จะต้องคิดถึงในแง่ต่างๆ เพราะเราได้คิดมาแล้วหลายชั่วโมง บัดนี้เรามาภาวนาเพื่อไม่ให้จิตคิดไปตามอารมณ์ต่างๆ เพื่อให้ใจตั้งอยู่ในปัจจุบัน กายเราก็อยู่ที่นี่ ใจเราก็อยู่ที่นี่ และเรากำลังภาวนาอยู่ในขณะนี้

....แล้วไหว้พระ จะย่นย่อหรือพิสดารก็อยู่กับตัวเราเอง และทำใจไม่ให้มีเวรมีภัยต่อสรรพสัตว์ใดๆทั้งสิ้น เสร็จแล้วนั่งให้สบาย นั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย ประนมมือขึ้นจดระหว่างคิ้ว ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ให้มารวมอยู่ที่ใจ
....ให้ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้า ยาว นึกว่า พุท กำหนดลมหายใจออกยาว นึกว่า โธ
....ให้ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้ายาว นึกว่า ธัม กำหนดลมหายใจออกยาว นึกว่า โม
....ให้ตั้งใจกำหนดลมหายใจเข้ายาว นึกว่า สัง กำหนดลมหายใจออกยาว นึกว่า โฆ
....จะว่า ๓ - ๗ ครั้ง หรือจะมากกว่านี้ ก็แล้วแต่ความถนัดใจ แล้วค่อยๆเอามือวางลงบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งใจกำหนดเอาแต่พุทโธอย่างเดียวและหายใจก็หายใจตามปกติ ทำใจให้มีความร่าเริงและแผ่วเบา ไม่ให้ใจมีความกังวลกับสิ่งใดๆทั้งสิ้น


วิธีกำหนดคำบริกรรมประสานลมหายใจ

....วิธีกำหนดสติกับผู้รู้ประกอบคำบริกรรมเข้าประสานกับลมหายใจนี้ ขออธิบายสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปปฏิบัติให้ง่ายขึ้น อันดับแรกให้ตั้งใจโดยมีสติว่า เราจะตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกันกับลมหายใจเข้า ว่า พุท เราจะตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลมหายใจออกว่า โธ แต่ลมหายใจของเรามีอยู่ ถึงเราไม่ตั้งใจดู มันก็หายใจออกหายใจเข้าอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเราจึงมากำหนดเพียงให้เป็นอุบายของสติกับผู้รู้ และคำบริกรรมกับลมหายใจให้อยู่ในกรอบเดียวกันเท่านั้น นี้เป็นวิธีฝึกสติ เพื่อให้สติมีความเข้มแข็ง จึงให้ทำด้วยความตั้งใจ คือเราจะต้องตั้งใจอันมีสติหายใจเข้าเอง เราจะต้องตั้งใจอันมีสติหายใจออกเอง เวลาใดเราไม่ได้ตั้งใจ หายใจเข้าเอง ถือว่าสติเราตามไม่ทัน เวลาใดเราไม่ได้ตั้งใจหายใจออกเอง ก็ถือว่าเราขาดสติ ฉะนั้นจึงให้เรามีสติตั้งใจหายใจเข้าเอง มีสติตั้งใจหายใจออกเอง ถ้าชำนาญแล้วไม่ยาก ต่อไปก็รู้เท่าทันกันเอง นี่คือเหตุตั้งใจในขั้นต้น
......เมื่อเราชำนาญในลมกับคำบริกรรมแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ลมว่า ลมหายใจหยาบหรือลมหายใจละเอียด ถ้าลมหายใจยังหยาบอยู่ก็ให้ดูลมไปก่อน ถ้าลมหายใจมีความละเอียดแล้ว สติเราก็ไม่เผลอ รู้เท่าทันลมได้ดี เราก็ปล่อยคำบริกรรมนั้นเสีย ให้มารู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่เฉพาะลมเท่านั้น เมื่อใจกับลมละเอียดแล้ว มันจะแสดงออกมาทางกาย มีลักษณะต่างๆ เช่น ปรากฏว่า มีกายใหญ่บางส่วน หรือใหญ่ทั้งหมดภายในกาย หรือเป็นกายเล็ก บางทีสูงขึ้น บางทีเตี้ยลง ถ้าเป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งเราอย่ากลัว นั่นเป็นอาการของใจ แสดงออกมาทางกาย ให้รีบตั้งสติกับผู้รู้ ให้รู้ลมละเอียดเข้าไปอีก เมื่อลมละเอียดเต็มที่แล้ว มันจะแสดงขึ้นมาอีกวิธีหนึ่งคือ ลมหายใจมันจะน้อยเข้าทุกที เล็กเข้าทุกที และระบบการหายใจจะหายใจสั้นเข้าทุกที ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนตัวทันที ถ้าเป็นเช่นนี้เราไม่ต้องกลัว นั่นแหละใจกำลังจะสงบ จะเห็นความอัศจรรย์ตัวเอง ให้รีบตั้งสติรู้อยู่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น ลมหายใจน้อยก็รู้ ลมหายใจสั้นก็รู้ ลมหายใจเล็กเหมือนใยบัวก็รู้ ลมหายใจจะสั้นและอยู่ในลำคอเท่านั้น พอสุดท้ายลมหายใจก็จะหมดทันที เมื่อลมหมด ความสงบใจนั้นก็จะหมดภาระกับลมหายใจ มีแต่ความสงบของใจ เต็มไปด้วยความสว่างรอบตัว แต่ไม่ปรากฏเห็นกายตัวเองเลย มีแต่ความสว่างภายใน ใจสบายและมีความสุขเท่านั้น ความสุขที่ใจมีความสงบนั้น ไม่มีความสุขใดในโลกจะเสมอ เหมือนดังพุทธภาษิตว่า "สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี" ความสงบสุขนี้เป็นอยู่ไม่นานก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ผลของความสงบนั้นยังปรากฏอยู่ ถ้าผู้ไม่มีรัศมีของปัญญาแฝงไว้ที่ใจ ก็อยากสงบอยู่อย่างนั้นต่อไปและติดใจในความสงบนั้นๆ ถ้าผู้มีรัศมีของปัญญามีเชื้อติดอยู่ที่ใจ ก็สามารถเริ่มพิจารณากายต่อไปได้ ไม่ติดกับความสุขนั้นๆเลย

อุบายดูกายรู้กายในสมถะ

.....วิธีทำสมถะเกี่ยวกับอุบายรู้กาย กายของเรามีอยู่เมื่อเราหลับตาดูทำไมไม่เห็น นี้ก็เพราะความไม่เคยชินไม่เคยฝึกหัดมาก่อน วิธีฝึกให้รู้กายนี้ต้องอาศัยการฝึกให้ถูกหลัก จึงจะเป็นอุบายให้รู้กายได้ง่ายขึ้น สมมุติว่าเรานั่งอยู่ในขณะนี้ มีวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร มีลักษณะอย่างไร ใกล้หรือไกล ใหญ่หรือเล็ก เมื่อเราลืมตาเพื่อดูให้ชัดเจนแล้ว เอาใจไปจดจ่ออยู่ที่วัตถุนั้นให้ดี แล้วค่อยๆหลับตาลงเบาๆ ให้ความรู้ของใจจดจ่ออยู่ในวัตถุนั้นๆ ถึงเราจะหลับตาก็เพียงเอาเปลือกตาทั้งสองข้างลงมาปิดตาไว้เท่านั้น แต่ความรู้สึกในตานั้นให้เห็นในวัตถุนั้นอยู่ ถึงเราจะหลับตาก็สามารถเอามือคว้าจับเอาของนั้นได้ และจับถูกกับจุดนั้นทีเดียว นี้ฉันใด วิธีการฝึกให้ใจรู้กายก็ฉันนั้น
.......อุบายวิธีดูกายนี้เราจึงเลือกเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของกายที่เราพอจะมองเห็นได้ง่าย เราเอาส่วนนั้นมาเป็นหลักวิธีฝึก จะเป็นตำหนิอะไรในกายของเรามาเป็นเครื่องหมายก็ได้ ให้เราใช้สัญญาความจำในตำหนิหรือในกายส่วนนั้นไว้ให้ดี ให้ใจจดจ่ออยู่อย่างนั้น ไม่ต้องให้ใจเคลื่อนที่ไปที่ไหนมาไหนได้ ให้เราเอาจุดนั้นๆเป็นจุดยืน ทำบ่อยๆ ความชำนาญในการเพ่งดูนั้นก็จะติดใจ ข้อควรระวัง อย่าไปเอาลมหายใจเข้าออกมายุ่งเกี่ยว หรือคำบริกรรมทั้งหมดเราพักไว้ก่อน ถึงลมหายใจจะมีเพียงผิวเผิน อย่าเอาใจจดจ่อกับลมนั้น ให้เอาใจจดจ่อในกายส่วนที่เราเพ่งอยู่นั้น สติเรายังไม่ดี อย่าพึ่งกำหนดรู้กายส่วนใหญ่ ให้กำหนดเป็นจุดเล็กเท่าหัวแม่มือก็ได้ ต่อไปสติเราดีมันจะขยายออกเอง เหมือนแสงไฟขยายความสว่างฉันนั้น ถ้าหากเรากำหนดรู้กายเห็นกายส่วนที่เราเพ่งดูอยู่นั้นเห็นชัดและรู้ชัดภายในใจอยู่อย่างนั้น กายส่วนที่เราเพ่งดูอยู่นั้น ก็จะขยายตัวกว้างออกไปทุกทีๆ ถ้ามันไม่ขยายออกไป เราก็ขยายออกไปโดยความรู้สึกทางใจ ถ้าขยายออกไปกว้างไม่เห็นชัด เราอย่าพึ่งขยายออก ให้ทำใจเพ่งดูอยู่ในลักษณะเดิม เราจะนั่งเพ่งดูหรือเดินกำหนดใจดูก็ได้ หรือจะยืนเพ่งดู นอนเพ่งดูก็ได้ แต่นอนเพ่งดูนั้นไม่ค่อยจะได้ผลเท่าใดนัก คือทำให้สติอ่อน ง่วง คอยแต่จะหลับ
.....ฉะนั้นจึงให้กำหนดเพ่งดูอยู่ในอิริยาบททั้งสาม คือ ยืน เดิน นั่ง ให้ทำไปเรื่อยๆ ทำครั้งแรกก็จะมีความอึดอัดใจอยู่บ้าง เป็นเพราะว่าเราไม่เคยชินในการทำ จะกำหนดเพ่งดูสักเท่าไร ก็จะเห็นอยู่แต่ความมืดมิดอยู่อย่างนั้น แต่เราก็พยายามกำหนดตั้งใจเพ่งดูบ้าง หรือลืมตาดูบ้าง เมื่อลืมตาดูก็จดจำลักษณะสัณฐานของกายส่วนนั้นไว้ให้ดี แล้วค่อยๆหลับตาลง แต่ความรู้นั้นกำหนดจดจ่ออยู่ที่กายส่วนนั้นๆอย่าให้เผลอ ให้เหมือนกันกับเราลืมตาดูเรื่องที่เรากำหนดจดจ่อ เพ่งกายไม่เห็นก็เพราะความรู้ของใจเรายังไม่พร้อม เมื่อความรู้ของใจพร้อมแล้ว ความรู้ของใจก็ค่อยๆรู้กันไปพอลางๆ แต่ถ้าทำบ่อยๆเข้า ความรู้ของใจก็จะรู้ขึ้นเอง ถ้าหากเราไม่ชำนาญในการเพ่งกายให้รู้ชัดเจนด้วยใจแล้ว
.....ท่านจะเลือกเอาความรู้ในทางปริยัติขั้นไหนมาพิจารณาก็ไม่ได้ผล เราจะพิจารณากายด้วยความรู้ที่ศึกษามา จะว่า อศุภะ อศุภัง ให้เปื่อยให้เน่า มันก็เปื่อยเน่าไม่ได้ จะพิจารณาความสกปรกโสโครกภายในกาย มันก็สกปรกโสโครกไปไม่ได้ จะแยกแยะกายส่วนต่างๆ ก็แยกแยะไปไม่ได้ นี่เพราะเหตุใด เพราะความรู้จริงเห็นจริงภายในใจไม่มี
....ดังคำโบราณว่า "ตีป่าให้เสือกลัว" นั้นเอง เหมือนเรารู้ข่าวความสกปรกทั้งหลายในเวลาปกติ โดยเราไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเอง ความรังเกียจก็จะไม่เกิดขึ้นกับใจเราได้เลย แต่ถ้าหากรู้เห็นด้วยตนเองแล้ว ความรังเกียจในสิ่งสกปรกนั้นย่อมแสดงออกมาทางใจ ขยะแขยงขึ้นที่ใจเราทันที นี้ฉันใด เมื่อเรากำหนดรู้เห็นในส่วนของกายในลักษณะต่างๆด้วยความเป็นจริงด้วยใจตนเองแล้ว ก็ย่อมทำให้ใจเราเกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดถือในกายฉันนั้น คำว่ากายของเราก็จะจืดจางไป เพราะใจมาเห็นกายอันเป็นปกติแล้วนี้ฉันใด
..... การพิจารณาโดยเอาความรู้นอกๆมาพิจารณาก็พิจารณาไปได้เพราะได้ศึกษามาแล้ว แต่ความเบื่อหน่ายในกายมันจะปรากฎขึ้นในใจของท่านหรือไม่ ไม่มีทางเกิดความเบื่อหน่ายได้เลย เพราะใจเราไม่รู้อาการของกาย ไม่เห็นลักษณะของกาย ใจจะเบื่อหน่ายได้อย่างไรกันเล่า ฉะนั้นเราจึงมาเพ่งมากำหนดจดจ่อรู้เห็นอาการของกายด้วยใจเสียก่อน เราจึงมาพิจารณาด้วยปัญญาไปตามอาการของกายส่วนนั้นๆ และใจก็รู้เห็นๆพร้อมๆกัน พิจารณากายส่วนไหน ใจก็เห็นกายส่วนนั้นๆ ไม่ว่าส่วนนอกส่วนใน ใจก็เห็นไปตามปัญญาทุกส่วน ถ้าเห็นกายตัวเองด้วยใจจริงๆแล้ว ท่านจะกำหนดดูกายใครต่อใครก็ย่อมเห็นชัด เหมือนกับเราดูกายของตัวเองตลอดเวลา เมื่อใจเห็นชัดกายเรากายคนอื่นอยู่อย่างนี้ ราคะตัณหาก็เบาบางลง คือไม่กำเริบขึ้นที่ใจเรานั่นเอง เมื่อใจเห็นกายอยู่อย่างนี้ นี่แล ความสงบใจภายในกายจะเป็นเส้นทางต่อเนื่องกันกับวิปัสสนา คือปัญญาต่อไป

อุบายวิธีจับหลักภาวนาเบื้องต้น

....วิธีกำหนดอารมณ์ของใจ เพื่อจะได้ใช้ปัญญา พิจารณาตามให้ถูกหลักของใจ สมมุติว่าเรานั่งภาวนา เราจะเอาสมถะขึ้นก่อนหรือจะเอาปัญญาขึ้นก่อนนั้น เราก็ต้องเอาอารมณ์ของใจเป็นเส้นทางในการภาวนา ถ้าใจเราชอบสงบเราก็ต้องเอาสมถะ เราจะเอาปัญญาเข้าประกอบนั้นไม่เข้ากัน ถ้าเราชอบคิดโน่นคิดนี่ เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา เราจะบังคับให้ใจสงบมันก็ไม่ได้ผล สมมุติว่า ถ้าท่านอยากจะพักผ่อน มีคนอื่นมาทำเสียงรบกวน มันก็ผิดหลักตามความเป็นจริงของใจ ถ้าท่านมีความต้องการทำการทำงาน สนุกสนานร่าเริงในการเล่น ถ้ามีผู้บังคับให้ท่านพักผ่อน ท่านก็จะไม่ยอมเช่นกัน
.....นี้ฉันใด อุบายที่จะจับหลักภาวนาเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของใจ ถ้าใจเราชอบสงบ เราก็เอาสมถะเดินก่อนเอาปัญญาเดินหลัง ถ้าใจเราชอบคิดโน่นคิดนี่เราก็ต้องเอาปัญญาไปก่อน แล้วจึงเอาสมถะตามหลัง ขอให้ท่านเข้าใจตามวิธีนี้เถิด วิธีทำสมถะยังใจให้สงบก็ได้เขียนผ่านมาแล้ว ว่าด้วยวิธีกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี้เป็นวิธีหนึ่ง ว่าด้วยวิธีกำหนดกาย เพ่งกาย ก็ได้เขียนผ่านมาแล้วเช่นกัน ขอให้ท่านเลือกเอา วิธีไหนก็ได้ แล้วแต่ความถนัดใจของท่าน

ปัญญาประสานกายประสานใจ

....ต่อไปจะว่าด้วยวิธีใช้ปัญญาประสานกายประสานใจ เพื่อประกอบให้เป็นเรื่องปัญญาพิจารณาใจให้สัมพันธ์กันกับอารมณ์ของใจ เพื่อให้ใจรู้เห็นโทษของกาย โทษของอารมณ์ที่เกิดจากใจ เพราะใจต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องอยู่ จะเป็นอารมณ์ประเภทไหนก็ตาม ก็เกิดขึ้นที่ใจ จะเป็นอารมณ์ชั่ว อารมณ์ดี อารมณ์แห่งความรัก อารมณ์แห่งความชัง ก็อยู่ที่ใจ อารมณ์แห่ง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็อยู่ที่ใจ อารมณ์แห่งความรักความใคร่ก็อยู่ที่ใจ อารมณ์ประเภทไหนก็ตามเมื่อมันเกิดขึ้นมาที่ใจแล้ว เราก็จับอารมณ์นั้นไว้ให้ดี เพื่อจะใช้ปัญญาเข้าประกอบกับอารมณ์ประเภทนั้นให้ถูกจุด และจะใช้ปัญญาชี้โทษของอารมณ์นั้นๆให้ใจฟัง ให้ใจรู้ ให้ใจเห็นโทษในอารมณ์ทุกครั้งไป เพราะอารมณ์ประเภทใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นที่ใจแล้ว ย่อมทำให้ใจเสียหลักทุกครั้งไป
.....เพราะใจเหมือนกับโรงหนัง เขาจะเอาหนังเรื่องต่างๆฉายให้ใจดู ขึ้นอยู่กับกิเลสตัณหาผู้จัดหามา จะเป็นเรื่องไหนก็ตาม ใจย่อมหันเหเซซวนตามเรื่องนั้นทุกครั้งไป เป็นอันว่า อารมณ์ประเภทไหนก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นที่ใจแล้วเป็นอันว่าไม่เสียผล มีทั้งเรื่องตลกคะนองตื่นเต้น มีทั้งเรื่องโศกเศร้าเหงาหงอย มีทั้งเรื่องฆ่าฟันห้ำหั่นกันด้วยอาวุธต่างๆ มีทั้งเรื่องแข่งดีแข่งเด่นเอารัดเอาเปรียบกัน สารพัดเรื่อง ที่กิเลสตัณหาเอามาแสดงให้ดู จะให้ใจอยู่เฉยๆแทบไม่มี เดี๋ยวเรื่องนี้จบไป เรื่องใหม่ก็หมุนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ใจอยู่กับอารมณ์ทั้งหมดนี้ไม่มีความเบื่อหน่าย หมุนไปเวียนมาจนไม่รู้ว่าอารมณ์เก่าหรือใหม่ คลุกเคล้าอยู่ในใจทั้งหมด โดยไม่รู้ว่าอารมณ์อดีต ปัจจุบัน อนาคต เข้าพัวพันสลับซับซ้อนไม่รู้ต้นหรือปลาย ใจที่อวิชชาห่อหุ้มไว้แล้วนี้เอง จึงไม่รู้อารมณ์ที่เป็นทุกข์ อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้วิธีการดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติแห่งความดับทุกข์ นี่แหละจึงชื่อว่าใจหลง คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจนั้นเอง
....อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจนั้นจึงทำให้เกิดความพะวักพะวงดิ้นรนตามอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับใจนี้ เพราะใจไม่เห็นโทษแห่งอารมณ์ของใจเอง และยินดีตามความเคยชินในอารมณ์นั้นๆ ความเคยชินในอารมณ์นี้เองจึงทำให้ใจเผลอ เพราะไม่มีสิ่งใด มากระตุ้นเตือน ว่ากล่าวสั่งสอน ชี้โทษให้ใจฟัง จึงไม่รู้จักหาหนทางที่จะแก้ไขตัวเอง จึงว่าใจมีความโง่เง่าเต่าตุ่นหมุนไปตามความอยากของใจโดยลำพังตั้งตัวไม่ติด คิดไปตามลำพังความโง่ของใจ อารมณ์ประเภทไหนเกิดขึ้นก็วิ่งตามโดยหมดความสังเกต จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ประสบอารมณ์ที่ล้มเหลวเลวทราม ก็เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงของอารมณ์ที่เกิดขึ้น นี้แหละจึงว่ากิเลสจูงใจให้เป็นไปต่างๆตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ เราจะซักฟอกใจ ทำความสะอาดให้ใจ ก็มาซักฟอกความคิดเห็นของใจ ให้ใจได้กลับแนวความคิดเสียใหม่ ให้ใจมีความฉลาดเฉียบแหลม รู้เหตุรู้ผลต้นปลายเพราะอาศัยปัญญาเข้ามาฝึกฝนอบรมให้ใจรู้ตามอารมณ์ของใจ
.......เพราะอารมณ์ของใจมีที่เกิดขึ้นหลายทาง เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้สัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมเกิดอารมณ์ขึ้นที่ใจ เรียกว่า ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์นี้เองทำให้ใจลุ่มหลงตามอารมณ์ของอายตนะ ฉะนั้น เมื่ออารมณ์ของอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นที่ใจแล้ว เราตั้งข้อสังเกตดูอารมณ์นั้นว่าเกิดมาจากอายตนะอะไร เราจึงกำหนดรู้อารมณ์ประเภทนี้ไว้ก่อน เพื่อเราจะได้สั่งสอนใจให้รู้จักอารมณ์นั้นๆ มีโทษร้ายแรงมากน้อยเพียงใด เพื่อใจจะไม่ลุ่มหลงในอารมณ์นั้นๆต่อไป อารมณ์ของอายตนะที่เกิดขึ้นกับใจนี้เอง จึงทำให้นักภาวนาเสียหลักมาแล้วเป็นจำนวนมากทีเดียว ก็เพราะไม่รู้จักวิธีที่จะเข้าแก้ไขนั่นเอง เหมือนกับขุยไม้ไผ่ที่เกิดขึ้นกับต้นไผ่ แล้วทำให้ต้นไผ่ตายไปเพราะขุยไม้ไผ่นั้น นี้ฉันใด นักภาวนาก็มาตายกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจของนักภาวนาเองฉันนั้น
.....อารมณ์ของใจที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ไม่ฉลาดหาวิธีแก้ไขแล้ว จะไม่หายไปจากใจได้เลย ท่านจะเอาสมถะเป็นจุดยืนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะสมถะเป็นเพียงทำใจให้สงบเท่านั้น เราจะเอามาละกิเลสส่วนนี้ไม่ได้ ถึงสมถะจะสงบลงสู่ความละเอียดถึงฌานสมาบัติ จะเป็นรูปฌาน อรูปฌาน ก็ตามเถิด ก็เพียงเอาเข้าไปข่มไว้เป็นวันๆเท่านั้นเอง เหมือนกับศิลาทับหญ้า ประกบกันไปเป็นครั้งคราว แต่อย่าลืมคิดว่า แม้แต่รากไม้เล็กๆยังสามารถสอดแทรกเข้าในช่องหินได้ เมื่อมีจังหวะ รากไม้ก็ผลักดันให้ก้อนหินพังทลายลงไปได้
.....ใจที่เราเอาสมถะเข้าไปประกบอารมณ์ไว้ก็เช่นกัน วันใดวันหนึ่งเมื่อเราเผลอตัว อารมณ์ประเภทนั้นก็จะระเบิดขึ้นที่ใจทันที จะหาชิ้นดีที่ใจไม่ได้เลย เป็นหัวใจที่หมดคุณค่าราคา เน่าเฟะอยู่ตลอดวันคืน จะหาจุดยืนให้ใจมิได้ คอยแต่จะล้มละลาย ผลสุดท้ายก็หาวิธีวางบาตรจีวร ออกตัวแบบหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสในลักษณะสมบัติผู้ดีว่า อาตมาหมดบุญบวชเสียแล้ว ขอตัวเถอะ ถ้าขืนอยู่ไปก็กลัวจะเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวเอง ถ้าเป็นไปในรูปนี้ก็ให้โยมได้เตรียมที่นอนหมอนเสื่อปูต้อนรับได้แล้ว จะปูที่ไหนให้เหมาะสมก็ปูได้เลย จะเป็นข้างนอกข้างในหรือที่ใดๆก็ตาม แล้วแต่จะจัดการ ไม่นานก็จะได้หามคนหมดบุญบวชในสมณเพศ ออกไปหาบุญทางเพศฆราวาส บางทีออกไปเป็นฆราวาสอาจจะได้บุญพอที่จะเข้ามาสู่ผ้ากาสาวพัสตร์อีก
.....นี้เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้ประสบมา จึงนำมาเขียนเพื่อกั้นทางตัวเองไปในตัว เพื่อจะได้สำนึกในการเขียนของตน เพื่อจะได้มีความละอายต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย เพื่อจะได้รักษาตัวไม่มัวเอาแต่สมถะฝ่ายเดียว เพื่อจะได้เฉลียวฉลาดเอาปัญญามาใช้ เพื่อให้ใจมีความเฉียบแหลมคมคาย มีอุบายแก้ไขอารมณ์ที่เกิดกับใจตัวเอง ความเฉียบแหลมนี้เอง จึงเป็นเส้นทางให้นักภาวนาได้พ้นจากปากเหยี่ยวปากกามาได้ ดังมีคำว่า "รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง" นั้นเอง นี้ก็ต้องอาศัยอุบายความเฉียบแหลมของใจ เข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ใจตื่นตัว ไม่มั่วสุมอยู่กับอารมณ์ที่เกิดจากอารมณ์ทางอายตนะ ปลายเข็มที่นำทางให้ตัวเข็มและด้ายไปประสานอยู่ในเนื้อผ้าได้ฉันใด ปัญญาที่มีความเฉียบแหลมย่อมนำใจให้มีความฉลาดสามารถรอบรู้รู้รอบในอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจอย่างแม่นยำฉันนั้น
....ถ้าไม่มีความเฉียบแหลมภายในใจแล้ว ถึงเราจะภาวนาด้วยปัญญาก็ไม่ค่อยจะได้ผล เดี๋ยวข้ามหน้าผวาหลังตั้งหลักของปัญญาไม่ได้ เดี๋ยวกิเลสสวนไป ปัญญาสวนมาไม่มีเวลาที่จะเผชิญหน้ากัน ไม่มีที่จะประจันบานห้ำหั่นกันซึ่งๆหน้าสักที เห็นแต่รอยขี้ของกิเลสตามสายทางเพื่อฝากเป็นของขวัญ เช่น ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้โกรธ ขี้หลง กินมากนอนมาก ล้วนแต่เป็นขี้ของกิเลสทั้งนั้น ถึงจะพบกันก็เมื่อปัญญาพลั้งเผลอไม่มีสติ กิเลสจึงได้ขี้ทับหัวใจเหม็นคลุ้งอยู่ตลอดเวลา เพราะปัญญาไม่มีความเฉียบแหลมนั่นเอง จะเข้าตำราที่ว่า "น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง" หรือเป็นแบบวิธี ตีป่าให้เสือกลัว นั่นเอง

.....นี้เป็นปัญญาพิจารณาแบบเพ่นพ่านไม่มีจุด กิเลสจะไปกลัวทำไมเล่า ถ้าเป็นปัญญาที่เกิดจากความเฉียบแหลมของใจเองแล้ว กิเลสยืดตัวไม่ขึ้น และหาช่องทางเข้ามาหาใจได้ยาก เพราะกิเลสมันชอบอยู่ในที่มืด ถ้าใจมืดเวลาใด กิเลสก็แสดงตัวทันที ถ้ามีปัญญาให้ความสว่างแก่ใจ ความรอบรู้รู้รอบของใจมีอยู่ จึงสมดังพุทธภาษิตว่า "นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา" ก็คือ ความสว่างอย่างนี้นี่เอง ปัญญาก็เป็นปัญญาของตัวเอง คำว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน" ก็เพราะตนมีอาวุธประจำตัว ก็คือตัวปัญญาเราเอง ปัญญาเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ความฉลาดเฉียบแหลมสำหรับผู้จะพ้นไป
........กระจกไม่มีประโยชน์แก่คนตาบอดฉันใด ความรู้ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ไร้ปัญญาฉันนั้น ปัญญาไม่มีแก่ผู้สิ้นความคิด ความพินิจไม่มีแก่ผู้ขาดความเฉียบแหลม เหตุนั้นจึงว่า ปัญญามากปัญญาดี คำว่าปัญญามากก็พอจะเข้าใจ ส่วนปัญญาดี จะมากก็ดีจะน้อยก็ดี ข้อสำคัญคือความเฉียบแหลมเป็นหลัก นักภาวนาจะสำนึกและสร้างความเฉียบแหลมให้เกิดขึ้นที่ใจให้ได้ วิจกฺขณฺตา คือความเฉียบแหลมนี้เอง จะเป็นเหตุให้รู้เท่าอารมณ์ของอายตนะได้ทุกขณะ ถ้าขาดความเฉียบแหลมแล้ว ใจอาจจะเผลอตัวได้ง่าย อารมณ์ของใจที่มีอยู่ก็ไม่รู้วิธีการแก้ไข จึงปล่อยให้กิเลสตัณหาฉุดลากไปตามอารมณ์ที่ชอบ
......สมมุติเอาอารมณ์ของอดีตที่ผ่านมาพาให้เกิดอารมณ์ของอนาคตมาบดขยี้หัวใจตัวเองในปัจจุบัน ใจจะหันเหเซซวนไปตามอารมณ์ต่างๆไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ เช่น ตาสัมผัสรูป เกิดอารมณ์ขึ้นที่ใจ ไปวาดมโนภาพเอารูปที่ผ่านมา หรือรูปในปัจจุบันมาไว้ที่ใจ สมมุติรูปนั้นไปในลักษณะต่างๆ ยิ่งสมมุติเท่าไรใจก็ยิ่งติด ใจยิ่งติดสมมุติ กิเลสก็ขยายตัว สังขารก็เริ่มทำงานทันที สังขารจะปรุงแต่งในแง่ต่างๆก็อาศัยสมมุติเป็นแกนนำ ถ้าสมมุติไม่มีที่ใจ จะให้สังขารปรุงแต่งทำงานได้อย่างไร เพราะสังขารเพียงเสริมให้สมมุติขยายออกไปกว้างเพื่อลวงใจให้ติด แมงมุมสร้างข่ายขึ้นแล้วติดอยู่ที่ข่ายที่สร้างไว้แล้วฉันใด ใจย่อมติดอยู่ในสมมุติและสังขารฉันนั้น ถ้าสมมุติตั้งขึ้นแล้ว สังขารไม่เข้าไปปรุงแต่ง สมมุติก็จะค่อยๆอ่อนไปเอง สังขารตั้งขึ้นแล้ว แต่ไม่มีสมมุติให้ปรุง สังขารก็จะหดตัวทันที ถ้าสมมุติและสังขารบรรจบกันเมื่อไร ก็เมื่อนั้นแหละใจจะกำเริบพลอยยินดี พอใจไปตามอารมณ์ของสมมุติและสังขาร นี้แลจึงว่า อวิชชาโมหะเกิดขึ้นที่ใจ มีอยู่ที่ใจ ใจหลงโลกหลงสังขารก็มาหลงตัวนี้ ใจหมุนไปตามวัฏฏะ ถือเอาภพน้อยภพใหญ่ก็มาหลงอารมณ์สมมุติสังขารอย่างนี้ ใจมีความรักใคร่พอใจในกามคุณ ก็เพราะอารมณ์อย่างนี้ ความโศกเศร้าโสกาน้ำตาแทบเป็นสายเลือด ก็เพราะอารมณ์อย่างนี้ ความคับใจแค้นใจพิไรรำพัน เสียใจ น้อยใจ ภัยต่างๆที่เกิดขึ้นกับใจ ก็เพราะใจมาหลงสมมุติสังขารนี้เอง ดังภาษิตว่า "ปิยรูปํ สาตรูปํ ตัณหาเกิดขึ้นในสิ่งที่รักใคร่พอใจ และตั้งอยู่ในสิ่งที่รักใคร่พอใจ เปมโต ชายเต โสโก ความโศกเกิดขึ้นจากความรัก รติยา ชายเต โสโก ความโศกเกิดขึ้นจากความยินดี กามโต ชายเต โสโก ความโศกเกิดขึ้นจากกามคุณ ตณฺหาย ชายเต โสโก ความโศกเกิดขึ้นจากตัณหา ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกเกิดขึ้นจากความรัก ปิยโต ชายเต ภยํ ภันเกิดขึ้นจากความรัก ปิยโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ผู้พ้นจากความรักได้แล้ว ย่อมไม่มีโศก ภัยจะมีมาจากที่ไหน" มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด ใจก็ไม่อิ่มในอารมณ์ของใจฉันนั้น เพราะความอยากในอารมณ์ภายในใจหาที่สุดมิได้ ใจมีความกำเริบเห่อเหิมในอารมณ์ใดๆ พึงมีอุบายห้ามใจในอารมณ์นั้นๆ ชนผู้ตื่นแล้วย่อมไม่มองเห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝันฉันใด ใจอันมีความเฉียบแหลมมีสติปัญญารู้ตัวอยู่ ย่อมไม่มองเห็นอารมณ์ที่ใจรักอันล่วงไปแล้วฉันนั้น มดที่ติดอยู่กับน้ำผึ้งฉันใด ใจที่ติดอยู่กับอารมณ์ก็ฉันนั้น

วิธีกำหนดรู้ใจและอารมณ์ของใจ

....นักภาวนา จึงควรมาทำความเข้าใจ ในวิธีที่จะรู้อารมณ์ของใจและวิธีรู้ใจ วิธีนี้เป็นวิธีที่ละเอียดอ่อน นักภาวนาผู้ไม่เคยชินอาจจะไม่เข้าใจ จึงขอให้ท่านพยายามทำติดต่อกันไปเรื่อยๆเพื่อความชำนาญและคล่องตัว และขอให้ตั้งใจทำจริงๆ ความจริงจะหนีความจริงไปไม่ได้ และเวลาใดเวลาหนึ่งความจริงก็จะปรากฏขึ้นมา ก่อนที่เราจะภาวนาทุกครั้ง จงมีสติตั้งใจคอยสังเกตอารมณ์ของใจไว้อย่างใกล้ชิด ทำใจให้มีความแผ่วเบา เหมือนกับเราทำสมถะ แต่ผิดกันในการกำหนดรู้ สมถะอาศัยกายและลมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย
.....แต่วิธีรู้อารมณ์ของใจนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น คือเราไม่กำหนดดูกาย ไม่กำหนดดูลมหายใจ ถึงแม้ว่าลมหายใจและกายจะมีปรากฏอยู่ก็ตาม แต่เราก็ไม่เอาใจใส่ ถึงจะรู้ก็รู้กันแบบลางๆโดยความไม่ตั้งใจดู ให้มีสติกำหนดรู้อารมณ์ของใจโดยเฉพาะ คึออยู่ในช่วงกลางระหว่างกายกับลมหายใจนั้นเอง อารมณ์ของใจนี้มีลักษณะไม่เหมือนกันทุกครั้งไป บางครั้งก็เป็นลักษณะหนึ่ง และบางครั้งก็เหมือนกัน บางทีก็แบบโลดโผน บางทีก็เป็นอารมณ์ของความรักความใคร่ อารมณ์ประเภทใดก็ตาม ให้เราจับจุดของอารมณ์ประเภทนั้นๆไว้ อย่าส่งใจไปหาตันเหตุของอารมณ์ ข้อนี้สำคัญมาก ถ้าส่งใจไปหาตันเหตุของอารมณ์ในพริบตาเดียวเท่านั้น ตัวสมมุติอันเป็นสาเหตุให้เกิดอารมณ์ก็จะปรากฏทันที ในช่วงนี้รักษาใจให้ดีที่สุด
......ถ้าส่งใจออกไปหาสาเหตุของอารมณ์ อารมณ์ภายในใจก็จะเกิดขึ้น ตัวสมมุติอันเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์นั้นก็จะเข้ามากลบใจทันที เรื่องเช่นนี้ขอเตือนนักภาวนาเป็นพิเศษ อย่านึกเอาเหตุของอารมณ์เข้ามาที่ใจเลย ถึงอารมณ์จะมีความรักความใคร่ ความยินดีพอใจอะไรก็ตาม นี้เป็นผลออกมาจากเหตุคือสมมุติ เพราะความทุกข์นั้นเป็นผลของตัณหา
.....เมื่อเรารู้ทุกข์เห็นทุกข์ได้แล้ว เราจึงหาวิธีดับเหตุแห่งความทุกข์ทีหลัง เรามารู้มาจับอารมณ์ของสมมุติได้แล้ว เราจึงหาวิธีลบล้างตัวสมมุติทีหลัง วิธีที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้เป็นวิธีที่รู้จักอารมณ์ของสมมุติเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่จับมันไว้ มันก็จะมาแสดงฤทธิ์ขึ้นที่ใจ แล้วอารมณ์ของสมมุตินี้เอง เป็นอาวุธสำคัญอันดับหนึ่งของกิเลส ตัณหา อวิชชา เมื่อเรายึดอาวุธของกิเลสตัณหาอวิชชาได้แล้ว เครื่องมือคืออาวุธของกิเลสตัณหาอวิชชาก็ไม่มี เราก็จะใช้ปัญญาจู่โจมอวิชชาตัณหาได้ง่ายที่สุด
....ฉะนั้น เมื่อเรายึดเอาอารมณ์ของตัวสมมุติได้แล้ว อารมณ์ที่ถูกจี้ด้วยสติอยู่อย่างนี้ ก็จะค่อยๆหดตัวลงๆ จะหดลงแทบสติจะมองไม่เห็นภายในใจนั้นเลย อารมณ์ประเภทใดก็ตามจะฝืนสู้กับสติไม่ได้ จะเป็นอารมณ์ของราคะ อารมณ์แห่งความรักความใคร่ที่ว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงก็ตาม ถ้าได้ถูกสติจี้ให้ถูกกับจุดแล้ว มันจะค่อยๆเลือนลางไป นี่แล จึงว่าสติเป็นตปธรรม เครื่องแผดเผาเหมือนกับไฟที่ยังน้ำให้แห้ง สติเผาอารมณ์ของสมมุติก็เช่นกัน ขอย้ำอีกที เวลาสติจี้อารมณ์อยู่นี้ ข้อควรระวังที่สุด อย่าให้ใจไปเพ่งเอาสมมุติที่เป็นต้นเหตุของอารมณ์นั้นเด็ดขาด ถ้าเราเพ่งหรือวาดภาพสมมุตินั้นขณะใด ก็เหมือนกับเทน้ำมันเข้ากองไฟขณะนั้น

.....เมื่อเราใช้สติจี้อารมณ์ให้อ่อนตัวลงได้แล้ว เราอย่าไปเผลอว่ามันดับไปหรือหมดไป เป็นเพียงแต่มันอ่อนกำลังลงเท่านั้น อันดับต่อไปในช่วงนี้เป็นปัญญา เราจะต้องมีอุบายสอนใจ ให้ใจได้เห็นโทษความหลงของใจเอง ชี้โทษที่เป็นอารมณ์ของใจนั้นให้ใจฟัง ชี้โทษแห่งความคะนองใจให้ใจได้รู้ ให้ใจได้ฟัง ให้ใจได้เห็น ให้ใจได้รับการอบรมของปัญญา ให้ปัญญาสอนใจ ให้ใจได้รับคำสอนของปัญญา ใจจึงจะเห็นโทษความคะนองของใจเอง เหมือนเด็กกำลังซุกซน ก็ต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้พร่ำสอน เด็กนั้นจึงจะมีความฉลาดขึ้นและรู้จักวิธีรักษาตัวเอง ใจที่ตกอยู่ในความควบคุมของกิเลสตัณหา ก็ไม่รู้ความผิดของตน มืดมนทำตามความยินดีตามความพอใจ ตามกิเลสตัณหาเรื่อยไป คนที่หลงผิดและกลับใจเข้ากับฝ่ายปกครองฉันใด ใจที่หลงผิด หลงโลก หลงวัฏฏะ อยู่ในภพทั้งสามก็ยอมจำนนต่อปัญญาฉันนั้น นี้แหละนักภาวนาทั้งหลายจึงขอย้ำอีกที ก่อนที่จะภาวนาทุกครั้ง ก็ให้ตั้งใจกำหนดเอาวิธีนี้
....เพื่อจะได้เป็นหลักของปัญญาต่อไป ครั้งใดอารมณ์ของใจไม่กำเริบ เราก็กำหนดสติรู้อารมณ์ของใจทุกครั้ง อารมณ์ของใจหยาบ ก็ให้รู้ว่าอารมณ์หยาบ เวลาใดอารมณ์ของใจละเอียด ก็มีสติรู้อยู่กับอารมณ์ละเอียด ใจมีอารมณ์ของราคะ ก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์ของโทสะก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความทุกข์ต่างๆก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความสุขก็ให้รู้ ใจอยู่กับอารมณ์เฉยๆก็ให้รู้ ให้ใจมีสติรู้อยู่กับอารมณ์ของใจชนิดต่างๆ หรือใจจะมีอารมณ์ว่างๆ ก็รู้กับอารมณ์ว่างๆไปก่อน แต่อย่าไปติดใจอยู่ในอารมณ์ว่างนี้ให้มากเลย มันจะกลายเป็นฌานสมาบัติไป ขอให้กลับมาใช้ปัญญาพิจารณากาย พิจารณาอารมณ์ที่เกิดกับใจอยู่เสมอ

การพิจารณากายและอารมณ์ของใจ

....ต่อไปจะแนะวิธีใช้ปัญญาพอเป็นแนวทาง การใช้ปัญญาพิจารณากายและพิจารณาอารมณ์ของใจ ให้อยู่ในระบบเดียว รวมอยู่ที่ใจ การพิจารณากายนี้เราต้องยกเอากายเราเป็นหลัก คือให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสภาพของกาย ความทุกข์ภายในกาย และความไม่มีอะไรเป็นแก่นสารภายในกาย ความสกปรกของร่างกาย เราจะพิจารณาเอาความเกิดเป็นหลักในเบื้องต้น
....เริ่มแต่ปฏิสนธิขึ้นมาก็ได้ หรือจะพิจารณาในช่วงที่เรารู้เหตุการณ์ต่างๆขึนมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ได้ หรือจะพิจารณาล่วงหน้าไปในอนาคตต่อไปก็ได้ เช่นเราจะพิจารณาการเกิดที่กายในเบื้องต้น ถึงเราไม่เห็นเราก็ต้องวาดมโนภาพตามความเป็นมาให้ถูกกับหลักการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริง ครั้งแรกเกิด ก็ต้องอาศัยหยดน้ำมันเดียวของพ่อแม่ที่เรียกว่า กลละ แล้วก็แปรสภาพเป็นปุ่มเปือกแล้วแปรสภาพเป็นเลือด แล้วรวมตัวเกาะกันเป็นก้อนเลือด จึงเรียกว่า ฆนะ จากนั้นก็แตกออกเป็นปัญจสาขา คือ แขนสอง ขาสอง ศีรษะหนึ่ง มีนิ้วมือ นิ้วเท้า มีตา หู จมูก ลิ้น กาย อวัยวะส่วนอื่นๆก็มีความสมบูรณ์ อาศัยความอบอุ่นอยู่ในธาตุของแม่ รูปกายของเด็กก็มีความเจริญขึ้น
......เมื่อครบกำหนดก็ออกจากท้องแม่มา ในระยะที่อยู่ในท้องแม่นั้นจึงไม่มีการหายใจ คนที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่มีการหายใจมีสามขณะ คือ ๑. เด็กอยู่ในท้องแม่ ๒. คนดำน้ำ ๓. ผู้เข้านิโรธสมาบัติ เมื่ออกจากท้องแม่มาแล้ว ได้ถูกกับอากาศภายนอกก็เริ่มการเปลี่ยนแปลงรูปกายนี้มาเป็นลำดับจนถึงเป็นเด็กเป็นหนุ่ม อาการของกายก็เปลี่ยนแปลงขึ้นทุกระดับจนถึงปัจจุบัน จนถึงวัยสุดท้ายคือตาย นี้อธิบายคร่าวๆพอเป็นโครงเรื่องเท่านั้น จงพิจารณาด้วยปัญญาตามเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้เถิด จึงขอย้ำ ในหลักปัญญาในหลักปัจจุบันนี้ ให้รู้เหตุการณ์ในอดีต ในปัจจุบัน และเหตุการณ์ในอนาคต ยกตัวอย่างพอให้นักภาวนาพิจารณาตามเพียงย่นย่อ คืออยากให้นักภาวนาช่วยตนเองให้มากที่สุด ในช่วงแรกเกิดจนถึงเป็นเด็กนั้น เพียงให้รู้ตามเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของกาย เพื่อให้เห็นเป็นของไม่เที่ยงและความทุกข์ ด้วยวิธีต่างๆติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้
....นักภาวนาต้องตั้งเอาความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นหลักสำคัญ ให้รู้เท่าเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ ความเป็นอยู่มีอยู่ เพื่อให้ใจรู้การเกิดมาของกาย ให้รู้ความตั้งอยู่ของกาย ให้รู้ความหมดอายุของกาย และเพื่อไม่ให้ใจเข้าผูกพันกาย ส่วนอารมณ์ของใจจะเป็นอารมณ์ของ ราคะ ตัณหา โลภ โกรธ หลง หรืออารมณ์นานาชนิดก็มีอยู่ที่ใจ รวมอยู่ที่ใจ มันจะแสดงออกตามวัย และมีความรุนแรงไม่เท่าเทียมกัน อารมณ์ของเด็กมันก็แสดงออกมาในความรุนแรงเป็นอีกอย่างหนึ่ง หนุ่ม สาว มันก็แสดงอารมณ์ความรุนแรงไปอีกอย่างหนึ่ง จนถึงกลางคนและวัยชรา มันก็จะแสดงออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง เป็น สนฺตติ สืบต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงทำให้ใจเราหลงอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ อารมณ์ภายในใจนี้เอง จึงทำให้ใจเร่ร่อนติดอยู่กับภพชาตินั้นๆ ไม่มีความเบื่อหน่าย พอใจในการเกิดอีกต่อไป เพราะใจไม่รู้ว่า การเกิดเป็นความทุกข์ มีความเห็นหน้าเดียวคือ เข้าใจว่าเป็นความสุข เหมือนกับคนสายตาสั้นมองไม่เห็นไกล เมื่อภัยเข้ามาถึงตัวจึงจะหาอาวุธป้องกัน มันจะทันได้อย่างไร นี้ฉันใด ใจมีความคิดสั้น มันย่อมแสดงผลออกมาภายนอกคือน้ำตา ส่วนภายในไม่ต้องถามถึงก็พอรู้กัน

...... เหตุนั้นนักภาวนาควรใช้ปัญญาพิจารณาอารมณ์ของใจอันเกิดมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุ เพื่อให้ใจได้สังเกตรู้ตามเหตุปัจจัย ก่อนที่จะไปยินดีกับรูปเสียงภายนอกนั้น ใจเราต้องมายินดีพอใจกับตัวเราไว้แล้วโดยไม่รู้สึกตัว เรียกว่า อุปาทานขันธ์ อารมณ์อันเป็นราคะตัณหามีในใจเราอันดั้งเดิมมีอยู่แล้ว จึงไปดึงดูดเอารูปเสียงนั้นๆมาเข้าประกอบกัน จึงพัวพันเข้าหาใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นของประจำโลก ถึงเราไม่เกิดมาหรือเกิดมาแล้ว หรือเราตายไป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังมีอยู่ ผิดแต่เราเข้าไปยึดถือเอาเท่านั้นเอง เพราะเราไม่รู้ จึงเป็นเหตุให้เราหลง และให้เข้าใจว่าตัวเราเป็นเหตุ เราจึงมาดับต้นเหตุคือตัวเราเอง เหตุเกิดขึ้นที่ไหนก็ดับเหตุในที่นั้น เหตุเกิดขึ้นจากเรา เราก็หาวิธีดับเหตุที่ตัวของเราเอง เหมือนเราดับไฟ เราจะไปดับควันไฟ ไปดับแสงไฟ ไปดับความร้อนของไฟ ผู้นั้นโง่ที่สุด เพราะดับไฟไม่ถูกจุดของต้นไฟ นี้ฉันใด ไฟคือราคะตัณหาที่มีอารมณ์เดิอดร้นเกิดขึ้นที่ใจ เราจะเอาสมาธิ ฌานสมาบัติขั้นไหนไปดับ ก็ไม่สามารถที่จะไปดับไฟราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดจากใจไปได้เลยฉันนั้น
....เราต้องใช้ปัญญาเข้าไปแก้ไขตันเหตุ เปลี่ยนแปลงลบล้างความยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา รูปเหล่านี้เอง เอามาแยกแยะออกเป็นชิ้นส่วน เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นอาการของใจ มิใช่ใจเดิม ส่วนใจเดิมจะมีความแพรวพราวอยู่ในใจเอง คำว่า วิญญาณนั้นไม่ใช่ใจ แต่ก็เป็นรัศมีความรู้ออกมาจากใจ ความรู้ในวิญญาณนี้เอง มันเจือด้วยความเศร้าหมอง คือ โมหะอวิชชา รู้ก็รู้แบบงมงายไปตามกิเลสตัณหา คือรู้ในทางวิธีขุดหลุมฝังตัวเอง เหมือนกับแสงไฟที่มีสีต่างกัน ไฟนีออนมีสีแดง สีขาว สีเขียว ไม่ขึ้นอยู่กับไฟ มันขึ้นอยู่กับหลอดไฟต่างหาก ฉันใด ความรู้ของวิญญาณนั้นจะรู้ไปแบบไหน วิธีใด มันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมพาให้เป็นไปและเปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ มีการเกิดๆดับๆสลับซับซ้อนไม่คงที่ฉันนั้น คือไม่มีสติยับยั้งอยู่นั่นเอง วิญญาณคือความรู้นั้น คือรู้ในวิธีการสร้างภพสร้างชาติ ฉลาดรู้ในวิธีผูกตัวเองให้อยู่กับโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้ในอริยสัจสี่ หรือสภาวะอันมีจริงเป็นจริง

......ถ้าวิญญาณรู้เห็นไม่จริงอย่างนี้ ความไม่รู้จริงอย่างอื่นก็พลอยติดตาม เช่น ความรู้ในสังขาร ก็ปรุงแต่งในทางไม่จริง ความรู้ในสัญญาก็เกิดๆดับๆจำไม่ได้คงที่ ความรู้ในเวทนา ความเสวยอารมณ์ก็มีทั้งสุขทั้งทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ ความรู้ในรูปก็ไม่รู้ตามหลักความเป็นจริง ความไม่รู้จริงนี้เองจึงเกิดความหลง ความรักความใคร่ พอใจไปตามกามารมณ์ต่างๆของโลก นี้แลจึงเป็นต้นเหตุแห่งความมืดมิดปิดความเป็นจริง จึงว่าอวิชชาความไม่รู้ โมหะ ความหลง ก็ตัวนี้เอง
....ฉะนั้น นักภาวนาจึงเปลี่ยนเป็นอุบายสั้นๆ เพื่อเข้าใจในวิธีง่ายๆ คือคำว่าอวิชชานั้นคือความไม่รู้ของจริงใน อริยสัจธรรม คือความเป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ให้เราใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักความเป็นจริง เพื่อให้ใจได้มีวิชชา คือความรู้ความเป็นจริงด้วยปัญญา วิชชาภายในใจก็จะมีความสว่างรอบรู้ รู้รอบในใจเอง นี้แหละคือเอาปัญญาเข้าไปฝึกฝนอารมณ์ของใจ ให้ใจมีความสว่าง เหมือนกับเราติดไฟขึ้นในที่มืด ความมืดก็ย่อมหายไปเอง ความรู้ความสว่างของใจที่เกิดขึ้นด้วยปัญญาแล้ว ความมืดของใจก็หายไป ใช้ปัญญาไตร่ตรองดูอาการของกาย ลักษณะของกาย ความเกิด ความตั้งอยู่ และความดับไปของกายทุกส่วน ทั้งภายนอกภายใน ทั้งตัวเองและคนอื่น ให้ตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือความเปลี่ยนไปแต่วัยต้นจนถึงวัยชรา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในกายตั้งแต่ต้นจนถึงความทุกข์ปัจจุบัน และใช้ปัญญาปฏเสธว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงบ้านอาศัยชั่วคราวเท่านั้น นานไปก็จะแยกกันไป นี้เป็นหลักภาวนาง่ายๆ ส่วนปัญญาจะพิสดารกว้างขวาง และอุบายใช้ปัญญาประกอบนั้นมอบให้นักภาวนาเอง
.......ข้อสำคัญที่สุด เราพิจารณากายส่วนใด ก็ให้เห็นแจ้งประจักษ์ในส่วนนั้น จะพิจารณาช้าหรือเร็วแล้วแต่ความสะดวก ถ้านักภาวนาสติยังไม่เร็วและแข็งพอ ควรใช้ปัญญาพิจารณาช้าๆ เพื่อจะได้เพ่งดูกายให้รู้ให้เห็นกายแต่ละส่วนมีลักษณะสัณฐานอย่างไร ให้ใจจดจ่อรู้ไปตามนั้น และใจเราก็ไม่พะวักพะวนไปในเรื่องอื่นๆ ใจก็จะอยู่กับกาย รู้กายอยู่ตลอดไป นี่แล จึงว่าสมาธิหนุนปัญญาไปในตัว ถ้าพิจารณากายไปนานๆ ถ้าใจมีความเบื่อหน่ายในการคิดพิจารณาแล้ว ก็ให้หยุดการพิจารณา ให้กลับใจมาอยู่ในความสงบ คืออารมณ์ของใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำใจให้แผ่วเบา รู้ลมหายใจเข้าออกโดยมีสติอยู่อย่างนั้น เพื่อให้ใจได้พักผ่อนไปในตัว กำลังใจที่เกิดจากสมาธินี้ จะได้ใช้หนุนปัญญาพิจาณาต่อไป


ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์

....การใช้ปัญญาพิจารณานั้น เราจะนั่งจะเดินหรืออยู่ในอิริยาบทใดก็แล้วแต่ความสะดวก เพราะปัญญาพิจารณานั้น ใจไม่อยู่กับที่ เมื่อปัญญาพิจารณา ใจก็พลอยรู้เห็นตามสภาพส่วนนั้นๆไปตามลักษณะ การพิจารณาทุกครั้ง ให้เอาไตรลักษณ์เป็นหลักประกอบในอาการนั้นๆทุกครั้งไป ให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะว่า รูปสังขาร จิตสังขาร ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน ใกล้หรือไกล หยาบละเอียด ประณีตเลวทราม อันเป็นของประจำ มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมดพิจารณาให้ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือความไม่เที่ยง ความทนอยู่ได้ยากและไม่มีอะไรเป็นส่วนตัวของเราแม้แต่น้อยเลย นี้แล จึงให้ทำลายต้นเหตุ ดูเหตุให้รู้ให้เห็น เพื่อไม่ให้ใจลุ่มหลงยึดถือว่าเรา ว่าเขา ต่อไป เพราะว่ามีเราอยู่ที่ไหน เขาก็มีอยู่ที่นั่น ถ้าเราไม่มี เขาจะมีมาจากไหน เพราะเราเป็นต้นเหตุ ผล คือเขาย่อมติดตามมาเป็นเงามาเทียมเราทันที สิ่งใดเป็น ฆณะเป็นก้อน สิ่งนั้นย่อมมีเงา ถ้าฆณะ คือก้อนนี้ไม่มี เงาจะมีมาจากไหน
........ฉะนั้นจึงให้ทำลายก้อนนี้ด้วยปัญญา เมื่อทำลายก้อนนี้ได้แล้ว สันตติ ความสืบต่อในก้อนนั้น ย่อมหมดไป ความเคลื่อนไหวไปมาก็หมดปัญหาลงทันที เหมือนกับความร้อนของไฟพร้อมทั้งตัวไฟเอง เมื่อเราดับกำเนิดอันเป็นเหตุให้เกิดไฟได้แล้ว ความร้อนของไฟตลอดตัวไฟเองก็หมดปัญหาลงทันที ฉันใด เราทำลายฆณะได้แล้ว ความสืบต่อในอสังขตธาตุ อสังขตปัจจัย ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน จึงเป็นอกุปปธรรมโดยสมบูรณ์ฉันนั้น
....นี้แล นักภาวนาทั้งหลาย เริ่มแรกในการปฏิบัตินั้น ย่อมมีการขลุกขลักกันอยู่บ้าง เหมือนการทำทางไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ใช่เขาจะราดยางไปเลยทีเดียว เขาต้องกรุยทาง มีรถน้อยใหญ่ ช่วยกันบุกเบิกป่าดงพงไพร ไหล่เขา ดังเราเห็นอยู่ในที่ต่างๆ กว่าจะราดยางลงได้ให้เป็นเส้นทางไปมาสะดวก ก็ย่อมลงทุนลงแรงอย่างมากมายทีเดียว การภาวนาเริ่มต้นก็เช่นกัน มีทั้งผิดทั้งถูก ย่อมล้มลุกคลุกคลานหนักเอาเบาสู้แบบปากกัดตีนถีบอย่างสุดเหวี่ยงทีเดียว นี่ต้องอาศัยผู้ทำ มิฉะนั้นอาจจะล้มเหลวหรือพลาดได้ เพราะการภาวนานั้นไม่ได้จำกัดกาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมตามกาลเวลาเท่านั้น มันขึ้นอยู่กับความตั้งใจให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ เมื่อออกจากที่จำวัดแล้ว จึงให้มีสติประจำใจ บิณฑบาตทั้งไปและกลับ หรือจัดอาหารบิณฑบาตก็ดี จึงให้มีสติอยู่ที่ใจ จะอยู่ในอิริยาบถใด ที่ไหน เช่นไรก็ตาม ต้องมีสติรู้ตัวรู้ใจอยู่ตลอดเวลาหรือใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นในการเกิดการดับในกาย ในใจอยู่เป็นนิจ หรือรู้เห็นในส่วนภายนอก มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันกิเลสตัณหาไม่ให้เข้ามาสู่วงในหัวใจเราได้ ตั้งใจให้มีสติเตรียมพร้อมทุกขณะ พร้อมที่จะเผชิญต่อกิเลสตัณหาอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

......ข้อควรระวังเส้นทางของกิเลสตัณหาอีกอย่างหนึ่งคือการคุยกัน นอกจากการสนทนาในธรรมแล้ว ย่อมเผลอตัว คุยกันแบบเอาไฟเผาตัวเองและผู้อื่นโดยไม่รู้สึก กว่าจะสำนึกตัวได้น้ำลายแทบไม่มี บางกลุ่มไม่มีสติสำนึกตัวเองได้บ้างเลย ผู้ต้องการความสงบ แต่ชอบพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ไม่ใช่นักภาวนาโดยตรง จะว่านักภาวนากาฝากก็ไม่ผิด คือไม่คิดถึงความรำคาญของผู้อื่นเลย ผู้อื่นอยากทำความเพียรนั่งสมาธิ เดินจงกรมหรืออยู่ด้วยความสงบส่วนตัว ก็ทำเสียงต่างๆไปให้ผู้อื่นรำคาญใจ คำว่า "กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวาวีตีปตนฺติ" วันคืนล่วงไปล่วงไปทำอะไรอยู่ และเรายินดีในที่สงบสงัดหรือไม่ ถ้าเรายินดีในที่สงบสงัด ผู้อื่นก็ย่อมต้องการความสงบสงัดเช่นกัน เมื่อเราทำอะไรไป พูดอะไรไป จงคิดเห็นอกเห็นใจผู้อื่นบ้าง
....ฉะนั้น ผู้มีความหวังประโยชน์ส่วนยิ่งแล้ว ควรจะสงวนตัวไม่ทะนงตัว แบบคมในฝักเหมือนกับพระมหากัจจายน์ กล่าวไว้ว่า "มีตาให้เหมือนกับคนตาบอด มีหูให้เหมือนกับคนหูหนวก" นี้เพื่อให้เราสำนึกอยู่ใน กายวิเวก จิตตวิเวก คือให้นักภาวนามีความตระหนัก ในวิธีเก็บตัว และวิธีหลบตัวเพื่อซ่อนเร้นและอำนวยความสะดวกในการรักษาตัว เพื่อไม่ให้ลืมตัวอยู่ในสถานที่ต่างๆ หรือทำตัวเพื่อไม่ให้คนอื่นสนใจตัวเอง ถึงหากอยู่ในสังคมน้อยใหญ่ก็ตาม ก็เหมือนกับกาอยู่ในท่ามกลางฝูงหงส์ โดยไม่มีคุณค่าอะไร จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีประตูหน้าประตูหลังตั้งยามรักษานั้นแล จึงจะมีเวลาเป็นของตน จะบำเพ็ญภาวนาอยู่ในที่ใดเวลาใดก็อยู่ตามอัธยาศัย ใจก็จะคืบคลานก้าวหน้าไปโดยเร็ว
....หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเพียงอุบายส่วนตัวเพื่อหลบไม่ให้อารมณ์ของรูปและเสียงนั้นได้เข้ามาพัวพันในใจนั้นเอง ถึงจะเห็นรูป ได้ยินเสียงก็มีอุบายทำตัวเหมือนกับคนตาบอดหรือหูหนวก เป็นใบ้ ไม่ผูกใจอยู่กับรูปเสียงนั้นๆ เมื่อรูปเสียงนั้นหายไป ใจก็ไม่มีอารมณ์ผูกพันหันเหเรรวนปักใจผูกใจในรูปเสียงนั้นเลย การภาวนา ถ้าไม่มีอารมณ์ของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เข้ามารบกวนใจแล้ว การภาวนาจะมีความงอกงามเจริญขึ้นเป็นลำดับ เหมือนกับเราปลูกต้นไม้เพื่อหวังประโยชน์ในผล ถ้าเรารักษาไม่ให้ตัวบุ้งตัวหนอนเข้าไปซุกซ่อนนอนกินอยู่ในลำต้น หรือรักษาไม่ให้เชื้อราต่างๆ หรือ มด แมลง มารบกวน พรวนดิน ใส่ปุ๋ยรดน้ำอยู่บ่อยๆ ต้นไม้ก็จะงอกงามให้เราได้รับผล ฉันใด นักภาวนาต้องรักษาใจให้อยู่เป็นปกติอย่าให้มีอารมณ์อันเป็นข้าศึกของใจ เข้ามาซุกซ่อนบ่อนทำลายใจเราเลย พยายามรักษาอยู่ในท่าเตรียมพร้อมทุกเวลาฉันนั้น ไม่ว่าอยู่ในท่าใดอิริยาบทใด ให้มีสติปัญญารักษาใจ ทำต่อเนื่องกันไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลดละ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ตื่นจากการพักผ่อนแล้วต้องมีสติปักหลักรักษาใจให้ดี เพื่อไม่ให้ใจออกไปดึงดูดเอาอารมณ์ภายนอกเข้ามาอยู่ในใจได้ หรือหากเวลาเราพลั้งเผลอ ก็ให้มีสติปัญญาเข้ามาชำระอารมณ์ประเภทนั้นๆให้หมดไปโดยเร็ว มิฉะนั้นอารมณ์จะเข้าเกาะกันวันละเล็กวันละน้อย และจะทำให้ใจมีความเศร้าหมองโดยไม่รู้สึกตัว ผลที่สุดอารมณ์ภายในใจ ก็จะเกิดเป็นพิษขึ้นที่ใจ ฉะนั้นเราควรรักษาใจไม่ให้ไปเกาะอารมณ์ประเภทนั้นๆตั้งแต่ต้นมือ เพื่อไม่ให้อารมณ์นั้นๆเกิดขึ้นที่ใจเราได้อีกเลย จึงควรระวังรักษาติดต่อกันให้คงเส้นคงวา อย่าประมาท อย่าทำใจให้สนิทกับอารมณ์นั้นๆ และอย่าทำความคุ้นเคยในอารมณ์นั้นอีกต่อไป โดยตั้งใจปฏิบัติภาวนาให้สม่ำเสมอทุกวันไปไม่ขาดวรรคขาดตอน ผลของการปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นกับตัวเรา เหมือนกับผลมะม่วงที่เกิดมากับต้นมะม่วงเอง ทีแรกก็มีรสเปรี้ยว เมื่อหากมันสุกแล้ว รสมันก็จะหวานโดยไม่มีใครเอาน้ำตาลไปผสมไว้เลย นี้ผลมะม่วงลูกเดียวยังเปลี่ยนแปลงสภาพรสไปได้ นักภาวนา ถ้าหากรักษาปฏิบัติต่อเนื่องกัน ผลการปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นกับตัวเราโดยตรง ความสงบความรู้เห็นเป็นมหัศจรรย์ก็จะเกิดกับใจเราโดยเราไม่ได้คาดคิดมาก่อน และไม่มีสิ่งใดใครคนหนึ่งมาบอกล่วงหน้าให้เรารู้บ้างเลย และไม่เคยปรากฏการณ์มาก่อนในชีวิตของเรา



การดำเนินตามมรรควิถี

....ความสงบอันยิ่งใหญ่นี้ ก็จตะตีแผ่รัศมีออกมาในใจในระยะช่วงอันสั้นนี้ทันที และรู้ว่าใจหยั่งลงสู่ความสงบเต็มภูมิด้วย ความสงบอันนี้จะมีความผิดแผกแตกต่างกันกับความสงบอย่างอื่นเป็นอันมากทีเดียว อุปาทานความยึดถือทั้งหมดจะขาดสิทธิ์ไม่มีฤทธิ์ในใจแม้แต่น้อย ขันธ์ห้า อายตนะก็เพียงสักว่าเท่านั้น ความรู้ในขันธ์และอายตนะภายในไม่มีปัจจัยต่อเนื่องกับอารมณ์ภายนอกได้เลย ความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่เป็นสายใยต่อเนื่องกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พูดรวมๆแล้ว ก็คือสัมผัสเกาะไม่ติดนั่นเอง รูปขันธ์กับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างสงบ ไม่มีขันธ์ใดทำงานแม้แต่น้อย ความเสวยอารมณ์ภายในใจไม่มี ความปรุงความคิดภายในใจก็ไม่มี ความรู้เกิดๆดับๆแส่ส่ายออกไปภายนอกก็ไม่มี ความรู้สึกลึกภายในใจนั้นมีอยู่ แต่ก็รู้เป็นเอกเทศอยู่เฉพาะรู้เท่านั้น เหมือนกันกับอยู่คนละโลกไม่เกี่ยวเนื่องถึงกันแม้แต่น้อยเลย เมื่อใจคิดไม่เป็น ความรู้ทางวิญญาณก็ดับสนิทเท่านั้น สภาพรู้อันไม่มีนิมิตหมายในโลกนี้ ขอมอบให้นักภาวนาพิจารณาเอง จะเป็นอยู่อย่างไร อยู่ในสภาพเช่นไร จะหาข้อเปรียบเทียบให้ผู้อ่านได้เข้าใจนั้นยากเหลือเกิน หรือพูดไปก็จะเกินความพอดีของผู้อ่าน ฉะนั้นขอมอบความสงบเช่นนี้ให้ผู้อ่านได้รับความเสียเอง ว่าเป็นอยู่อย่างไร สภาพแห่งความสงบและสภาพใจไม่มีอะไร ขอให้รู้เองเห็นเองจึงจะแน่นอน ต่อไปความสงบอย่างนี้จะสงบอยู่นานพอสมควรแล้ว ความสงบนี้จะพลิกแพลงขึ้นอีกวิธีหนึ่ง จะอยู่ในอิริยาบทใดก็ตามจะไม่มีปัญหา
....เมื่อความพลิกแพลงในความสงบนี้นิดเดียวเท่านั้น ความกล้าหาญจะแสดงออกมาทางใจให้เต็มกำลังเต็มอัตราทีเดียว ความกล้าหาญนั้นจะกล้าไปในทางใดและอะไรพาให้เกิดความกล้าหาญนั้น ก็ผู้นั้นจะรู้ภายในส่วนตัวของท่านเอง เมื่อความกล้าหาญนี้เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะอยู่ในอิริยาบทใดก็ตาม จะพิจารณาก็ตาม จะทำความสงบอยู่ก็ตาม ความกล้าหาญนั้นก็อยู่ในเชิงว่า ๓ ภพไม่มีความหมาย ความกล้าหาญนี้จะตั้งอยู่ชั่ว จริมกจิต จะกระดิกขึ้นที่ใจ ปุ๊บเดียวก็รู้ทันที คำนี้สำคัญที่สุด คือคำว่า "วิราคา วิมุจฺจติ วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ" เพราะสิน้กำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ความรู้ว่าหลุดพ้นแล้วย่อมมี (ความจริงก็จะเปิดเผยให้รู้อยู่ในตรงนี้เอง) "ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ" ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว นักภาวนาจะรู้ใสตัวท่านเอง และหายความสงสัยในตัวเองทันที
....ส่วนการระลึกถึงพระพุทธเจ้านั้นก็น่าอัศจรรย์ อยากไปกราบพระพุทธเจ้า ทั้งๆที่รู้ว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ดังพระสาวกของพระองค์ไปรู้เห็นธรรมแล้ว ถึงทางไกลสักเท่าไร ก็อุตส่าห์เดินทางมากราบนมัสการพระพุทธเจ้า แต่ความคิดอยากจะเล่าสิ่งที่รู้เห็นนั้นถวายพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบไม่มีในใจ เพียงได้กราบนมัสการพระพุทธเจ้าก็พอแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามในแง่ความรู้เห็นในท่ามกลางสงฆ์ ก็สามารถเล่าถวายพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริง โดยไม่มีความกระดากใจต่อพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ทั้งหลายแม้แต่นิดเดียว บางองค์ก็กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ ถึงพระพุทธองค์จะประทับอยู่ในที่นั้นก็ตาม ก็สามารถพูดไม่มีความเกรงขามในท่ามกลางสงฆ์ และก็พูดตามความจริงของท่าน ใครจะว่าอวดตัวในท่าไหนไม่เกี่ยว ไปที่ไหนอยู่ที่ไหนในท่ามกลางสงฆ์จะน้อยหรือมาก ก็สามารถกล่าวคำว่า "ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ" ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคในผล ผู้นั้นจงถามข้าพเจ้า อยู่อย่างนั้น ถ้าทุกวันนี้มีผู้ว่าเช่นนั้น ถึงจะว่าตามความเป็นจริงก็ตามเถอะ จะมีอะไรเกิดขึ้นกับท่านเล่า !!! และใครจะมาเป็นผู้ตัดสินให้ เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงผ่านไปแล้ว ความกล้าหาญนั้นก็อ่อนลงๆ จนไม่มีความกล้าหาญอยู่เลย และปัญญาเคยพิจารณาในแง่ต่างๆในรูปธรรม นามธรรม ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพื่อหาช่องทางให้หลุดพ้นไปจากวัฏฏะนี้ ก็หมดภาระแล้ว จะเหลือเพียงกำลังใจ กำลังใจนี้ก็เป็นผลอีกส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์อยู่มาก กำลังใจนี้จะตั้งอยู่ได้ก็ ๗ วัน กำลังเบ่งบานเต็มที่ ต่อไปก็ค่อยๆเลือนลางไปทุกๆวัน ประมาณอีก ๗ วัน ก็จะอยู่ในท่าปกติภายในธาตุขันธ์ ความรู้เห็นมาแล้วนั้นก็รู้เห็นเป็นปกติ และรู้เห็นเป็นเอกรัตติง ราตรีเดียวอยู่ตลอดกาล ไม่มีดับ มีเกิด มีขึ้น มีลง ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของโลกใดๆทั้งสิ้น
....คำว่า "กตํ กรณียํ" กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว จึงหมดภาระส่วนตัว ไม่ต้องไปหาเอาน้ำมาดับไฟอีกต่อไป เพราะไฟได้ดับสนิทไปหมดแล้ว นี่เป็นผลการปฏิบัติครั้งสุดท้าย ได้อธิบายเพียงย่นย่อ พอให้ผู้อ่านได้สดับไว้เป็นแนวทาง
....ถ้าท่านอ่านแล้วยังไม่เข้าใจในวิธีปฏิบัติภาวนา ผู้เขียนก็พร้อมที่จะอธิบายเพิ่มเติม เพราะหลักภาวนานี้ ผู้เขียนก็ได้ย่นย่อและอธิบายไว้สั้นๆเป็นบางตอน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในวิธีภาวนาได้ง่ายขึ้น เมื่อภาวนาไปแล้ว ผลแห่งความสงบความรู้เห็นในแง่ต่างๆอาจจะเกิดขึ้นไม่ค่อยเหมือนกันทั้งหมด เพราะนิสัยไม่เหมือนกันทุกคน ก่อนใจจะลงสู่ความสงบ จะแสดงในเบื้องต้นไม่เหมือนกัน และบางคนชอบมีนิมิตเกิดขึ้นนานาชนิด บางคนก็ไม่มีนิมิตมาเกี่ยวข้องเลย และขอเตือนผู้มีนิมิตบ้างเล็กน้อย ถ้าหากมีนิมิตเห็นสิ่งน่ารักน่ากลัวเกิดขึ้น หรือมีเสียงดีงขึ้นในที่ใกล้หรือไกล จะเป็นเสียงคนหรือเสียงสัตว์ก็ตาม ให้ตั้งสติลงที่ใจให้เข้าใจว่าของสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะกิเลส สังขารตัวเองหลอกตัวเอง อย่าไปปักใจเชื่อว่าสิ่งอื่น และก็อย่ากลัวในนิมิตนั้นๆ ถึงความกลัวเกิดขึ้นก็ห้ามออกจากที่ ถ้าของสิ่งเหล่านี้สามารถทำลายชีวิตเราหรือกินเราเป็นอาหารได้ก็เชิญ ถ้าเรากล้ายอมเสียสละชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น นิมิตนั้นก็จะหายทันที ถ้านิมิตที่น่ารักมีขึ้น ก็อย่าส่งใจไปตามนิมิตนั้นเลย นั้นคือสังขารออกหลอนตัวเอง ถ้าส่งใจไปตามสังขาร มันก็จะมาแสดงให้จิตเราถอนออกจากสมาธิทุกครั้งไป จะเป็นอย่างไรก็ตาม ขออย่าส่งใจไปดู ให้กำหนดสติรู้เฉพาะใจอย่างเดียว ไม่สนใจกับนิมิตใดๆทั้งสิ้น ถ้าหากทีปัญญาจะเอานิมิตนั้นมาพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ได้ยิ่งดี ถ้ามีปัญญารู้เท่าทันสังขารอยู่แล้ว สังขารก็ไม่ออกไปแสดงตัวให้เราปรากฏเห็นเลย ขอนักภาวนาจงเข้าใจตามนี้เถิด ขอให้ผู้ปฏิบัติจงสัมฤทธิ์ผลในการภาวนาเทอญ.//ฯ