วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อที่ ๑๐.อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า สมณะนั้นเคยเป็นครูของเรา

อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า สมณะนั้นเคยเป็นครูของเรา

คำว่าสมณะนั้น หมายถึงพระ หรือแปลอีกประโยคหนึ่งว่า หมายถึงผู้สอน เคยเป็ยครูของเรามา หมายถึง ท่านนั้นเคยเป็นครูอาจารย์ของเราหมายถึง เคยสั่งสอนอบรมเรามา ได้ช่วยเหลือสงเคราะห์เรามา เคยเป็นสรณะที่พึ่งในตัวเอาตลอดมา คำว่าอย่าได้เชื่อ หมายถึงสมณะนั้นจะอบรมสั่งสอนในวิธีภาวนาปฏิบัติให้เราได้เข้าถึงซึ่งมรรคผลในนิพพานหรือไม่ สมณะนั้นท่านมีความรู้ความฉลาดรอบรู้ในธรรมที่ถูกต้องเพียงใดความรู้กสึกความเข้าใจสมณนั้น จะมีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดไปจากเส้นทางแห่งมรรคผลนิพพาน เมื่อเรายังไม่เข้าใจในความเห็นของท่านและความรู้ความสามารถของท่านอย่างถูกต้อง เราก็อย่าเพิ่งตัดสินใจว่า ท่านจะแนะนำอบรมสั่งสอนให้เราได้รับความถูกต้องได้ ถึงท่านจะเป็นสมณะ เป็นนักบวชก็ตาม ความรู้เห็นของท่านในทางปฏิบัติธรรมอาจผิดพลาดได้ เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้ว เราควรจะนำเอาหมวดธรรมนั้น มาพิจารณาก่อนว่า เรื่องที่ท่านพูดนั้นมีเหตุผล พอเชื่อถือได้เพียงใด มิใช่ว่าเคยเป็นครูของเรามา แล้วก็จะเชื่อท่านไปเสียหมด ฉะนั้นเราต้องฝึกตัวเรา ให้มีนิสัยอย่าเชื่ออะไรง่ายเกินไป ไม่เช่นนั้นเราจะผิดหวังในภายหลัง ดังที่มีข่าวใหญ่ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ลูกศิษย์ผิดหวังมาแล้ว ก็เพราะถือว่า ท่านเคยเป็นครูบาอาจารย์เรามานั่นเอง

ถึงท่านจะมีบุญคุณต่อเรา เคยสงเคราะห์ช่วยเหลือตัวเรามาก็ต้องแยกออกจากกันเป็นคนละส่วน เราต้องมีนิสัยกตัญญูกตเวที นึกถึงบุญคุณท่านในส่วนนี้ อะไรที่จะตอบแทนบุญคุณท่านได้ เราก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ของเรา อย่าประมาทในตัวท่าน และให้ความเคารพในตัวท่านอยู่เสมอ อันความถูกต้องในทางธรรมปฏิบัติก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อย่าเอาบุญคุณ และความถูกต้องในธรรมปฏิบัติไปรวมกัน จะทำให้เกิดความสับสน
คำว่าศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้แล้วว่า ให้เชื่อในสิ่งควรเชื่อ สิ่งใดควรเชื่อถือได้ สิ่งใดเชื่อถือไม่ได้ เราต้องรู้วิธีเลือกเฟ้นในความเชื่อ ให้ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง มีเหตุที่เป็นธรรมาธิปไตย รองรับในความเชื่อนั้นๆ ฉะนั้นความเชื่อจึงเป็นดาบสองคม เป็นได้ทั้งคุณและโทษ มีประโยชน์และเสียประโยชน์ พุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ ก็เพราะพระองค์มีพระญาณหยั่งรู้แล้วว่า เมื่อถึงยุคบั้นปลายพระพุทธศาสนา จะมีศรทธาบางคนบางกลุ่มมีความเชื่อต่อพระบางองค์ที่เรียกว่า เชื่อแบบผูกขาดไม่ยอมเชื่อต่อพระองค์ไหนอีกเลย ไม่เชื่อถือในพระธรรมจากพระองค์อื่น หรือไม่ฟังเทปธรรมะของพระองค์อื่นๆ แต่อย่างใด จะมีความเชื่อฝังใจอยู่กับพระองค์เดียวเท่านั้นหรือเชื่อว่าอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์องค์อื่นเป็นพระอรหันต์ไม่ได้เลย ถ้าหากแต่ละกลุ่มมีความเชื่อในครูอาจารย์ของตัวเองอย่างนี้ จะเกิดความแตกแยกของหมู่ชาวพุทธด้วยกัน แต่ละกลุ่มก็จะยกเหตุผลในความดี ความเด่นของอาจารย์ตัวเองเพื่อชูโรง เพื่อเชิญชวนคนอื่นเป็นสมาชิกเพิ่มให้มากเอาไว้ มีอะไรเกิดขึ้นจะได้ใช้พลัง ในการต่อรองว่ากลุ่มนี้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์องค์นี้ กลุ่มนั้นเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์องค์นั้น เมื่อเป็นไปในลักษณะนี้เกิดขึ้น พระพุทธศาสนาจะมีความบอบช้ำเพียงใด ขอให้ทุกคนศึกษาเรื่องนี้ให้ดี

อีกจุดหนึ่งให้เรามองมุมกลับดูบ้างว่า สมณะนั้นจะเชื่อถือ และผูกขาดต่อลูกศิษย์ได้หรือไม่ เป็นไปได้เพราะเป็นปุถุชน ต้องหวังผลประโยชน์จากลูกศิษย์อยู่แล้ว มีพระบางองค์ได้ผูกขาดกับลูกศิษย์บางกลุ่ม ได้สัญญาต่อลูกศิษย์ว่า ถ้าเข้ามาเป็นลูกศิษย์แล้ว ห้ามไปเป็นลุกศิษย์พระองค์อื่นอีก ถ้าขืนไปจะต้องขาดจากกันไม่ถือว่าเป็นลูกศิษย์กันอีกต่อไป ในเหตุนี้มีช่องทางให้เกิดขึ้นได้ ที่เรียกว่า ศิษยามัจฉริยะ หมายถึงพระหวงลูกศิษย์ หรือพระหวงตระกูล ถ้าได้ตระกูลที่มีฐานะร่ำรวยอุปัฏฐาก ให้ความสะดวกสบายในปัจจัยสี่ที่สมบูรณ์ หากพระองค์อื่นไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับตระกูลของเราแล้ว จะมีปฏิกิริยา โต็ตอบขัดขวาง กีดกัน ทุกวิถีทาง เรื่องอย่างนี้มีมาแล้ว ในสมัยครั้งพุทธกาล จึงมีคำบาลีว่า มจฺฉริยตกูล ที่แปลว่า มีความตระหนี่ในตระกูล หรือมีบาลีอีกว่า อาวาสมจฺฉริย แปลว่า พระผู้หวงอาวาส (หวงวัด) ความหวงความตระหนี่ ที่เป็นเรื่องของพระมีมากมายหรือลูกศิษย์ก็มีความหวงในครูอาจารย์ก็มีมากเช่นกัน

ฉะนั้นพวกเราเป็นชาวพุทธ ควรทำตัวในทางที่ดีอวดศาสนาอื่นเขาบ้าง เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุผลรองรับในความถูกต้อง คนที่เคยนับถือศาสนาอื่นมาแล้ว เมื่อได้เข้ามาศึกษาหลักพระพุทธศาสนาเขายอมรับว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผลที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดในโลก ขณะนี้ต่างคนต่างศาสนาพากันเข้ามานับถือพระพุทธศาสนากันมากขึ้น แต่ไม่ได้เปิดเผยเป็นทางการเท่านั้น ผู้ที่เข้ามาล้วนแล้วแต่เป็นปัญญาชนมีการศึกษาดีและมีเหตุมีผลในตัวของเขาเอง ถึงเขาไม่ได้ประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าพระสงฆ์ แต่เขาก็เป็นชาวพุทธโดยปริยาย และไม่ควรพูด ว่าประเทศอะไรบ้าง ที่เป็นชาวพุทธวิธีลึกลับอย่างนี้ แต่เขาจะปิดบังในสังคมศาสนาเดิมเอาไว้ แต่ใจของเขามีความรู้สึกว่าเขาเป็นชาวพุทธเต็มตัว

ที่พวกเราเป็นชาวพุทธนั้น ก็เป็นความจริงตามที่เราพูด แต่เป็นชาวพุทธกี่เปอร์เซ็นต์ ให้เรามาประเมินดูตัวเราเองก็แล้วกัน เหตุนั้นข้าพเจ้าจึงได้เรียบเรียง เรื่องกาลามสูตรขึ้นมา มิใช่ว่าเป็นเรื่องใหม่กาลามสูตรนี้เป็นพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว จึงขยายข้อความนั้นยาวออกไป เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจง่ายขึ้น ขอให้ท่านอ่านไปพิจารณาไปในเหตุผลว่า เราจะประพฤติตนอย่างไรจะไม่ทำให้ตนเอง ตกอยู่ในกลุ่มกาลามชนกลุ่ม ถ้าหากท่านยังมีความสงสัย และยังไม่เข้าใจในธรรมหมวดใด ข้าพเจ้าพร้อมที่จะให้ความกระจ่างเพิ่มเติม คิดว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ แก่ตัวท่านอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ขอให้ท่านนำเรื่องกาลามสูตรทั้ง ๑๐ ข้อนี้มาพิจารณา ท่านจะมีวิธีการอย่างไรในภาคปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเรา มีความเชื่อแบบกาลามชน เราต้องฝึกความเห็นให็ถูกต้อง แล้วจึงเชื่อในภายหลัง ขอให้ท่านจงมีสติปัญญารอบรู้ในสัจธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว หากกุศลบารมีเราพร้อมแล้ว ขอให้ท่านจงก้าวสู่กระแสธรรมคือมรรคผลนิพพานด้วยเทอญ

อภินิหารมี ๓ อย่าง

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้นานาประการ
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ รู้วิธีพูดดักใจคนอื่นได้
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ มีความสามารถแสดงธรรมอย่างมีเหตุ ทำให้คนผู้รับฟังมีความเข้าใจในหลักสัจธรรมได้อย่างถูกต้อง อภินิหาร ๑-๒ นั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าได้สรรเสริญในข้อ ๓ คือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น หลวงปู่มั่นได้พยากรณ์ไว้ว่า จะมีช้างเผือกหนุ่มแสดงอภินิหารนั้นหมายถึง อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้น ขอผู้อ่านจงเข้าใจตามนี้