วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อที่ ๗.อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ตรึกตามอาการ

อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ตรึกตามอาการ

คำว่า ตรึก ในความหมายง่ายๆ ก็คือนึกขึ้นได้นั้นเอง คำว่า ตรอง ก็หมายความว่า คิดพิจารณาไปตามอาการ ฉะนั้นการตรึกหรือนึกขึ้นได้ในสิ่งใดเรื่องใด ก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่า การตรึกได้อย่างนั้นจะมีความถูกต้องไปเสียหมด ตรึกถูกก็เป็นได้ หรือตรึกผิดก็เป็นไปได้เช่นกัน ฉะนั้นการตรึกนี้มีเหตุผลให้เกิดขึ้นในส่วนลึกของใจ เรียกว่า ตรึกไปตามความเห็น ถ้าความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิก็จะมีการตรึกผิด ถ้าความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็จะมีการตรึกถูก คำว่า ตรึก ในอีกความหมายหนึ่ง เรียกว่า ระลึกได้ ก็หมายถึง สติ ก็คือระลึกได้นั่นเอง ความระลึกได้ของสติก็มีเหตุให้ระลึกได้สองอย่าง คือ สัมมาสติ ความระลึกได้ถูกต้องชอบธรรม มิจฉาทิฏฐิ จะมีความระลึกได้ไปทางทุจริต เป็นมิจฉาหาความถูกต้องชอบธรรมไม่ได้เลย ฉะนั้นการตรึกจึงเป็นไปได้ในทางโลกและทางธรรม หรือการตรึกตรองของคนพาลสันดานชั่ว ก็ตรึกในรูปแบบหนึ่ง การตรึกชองผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิต ก็มีการตรึกไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ทุกคนจะมีการตรึกด้วยกัน จะมีการตรึกผิดหรือถูกเราต้องใช้วิธีการตรองนั้นคือ นำการตรึกมาพิจารณาด้วยปัญญา ให้รู้เห็นในเหตุผลที่เป็นจริง ก็จะเกิดความเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า ตรึกอย่างไรเชื่อถือได้ ตรึกอย่างไรเชื่อถือไม่ได้ เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาจนเรื่องนั้น เกิดความแยบคายและหายความสงสัย
ตรึกอีกรูปแบบหนึ่งคือ ระลึกรู้ไปตามอารมณ์ของจิต อารมณ์ของจิตยังตกอยู่ในสังขารที่เรียกว่าสังขารจิต สังขารจิตนี้เองก็จะไปตรึก ในสมมตินั้นบ้างและตรึกในสมมตินี้บ้าง แล้วก็ขยายสมมติออกไปที่เรียกว่าปรุงแต่ง จึงเป็นสังขารการปรุงแต่งไปตามสมมติทั้งหลาย แล้วขยายวงกว้างออกไปโดยไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ และเข้าสู่วงจรของภพทั้งสาม อันมีกิเลสตัณหาพาให้เป็นไป ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ อีกประการหนึ่งการตรึกนี้ย่อมเกิดกับผู้ที่ชอบทำสมาธิความสงบอยู่บ่อยๆ สงบอยู่นานๆ อย่างต่อเนื่อง จนจิตได้เกิดความวางเฉย หรือเรียกว่าจิตว่าง ไม่มีอารมณ์แห่งความรัก ความชัง หรือว่างจากตัณหาราคะ ถ้าเป็นในลักษณะนี้อาจตรึกไปว่า นี้เป็นภูมิธรรมของพระโสดาบันบ้าง เป็นภูมิธรรมของพระสกิทาคามีบ้างเป็นภูมิธรรมของพระอนาคามีบ้าง เป็นทุกติยฌาณ เป็นตติยฌาณบ้าง เป็นจตุตถฌานบ้าง หรือรูปฌาณบ้าง อรูปฌาณบ้าง
ฉะนั้น การตรึกตรองอย่างนี้จึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความตรึกผิด ความเห็นผิด เข้าใจผิด จะกลายเป็นผู้สำคัญในตัวเองผิดไปโดยไม่รู้ตัว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ตรึกตามอาการในลักษณะอย่างนี้ ถ้าผู้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญารอบรู้ในเหตุและผล และมีความรอบรู้ในหลักสัจธรรมตามความเป็นจริง สิ่งที่ตรึกผิดดังที่ได้อธิบายมา จะไม่เกิดการตรึกผิดแต่อย่างใด เพราะความเข้าใจในสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ชอบธรรม ถ้ามีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นหลักยืนตัวที่มั่นคงแล้ว ธรรมที่เป็นสัมมาในหมวดอื่นๆ ก็จะดึงดูดเข้ามาหาความเห็นชอบนี้ ทั้งหมดเป็นอุบายการปฏิบัติธรรมที่เป็นไปในความเจริญ เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติ เข้าทางแห่งองค์มรรคได้แล้ว ไม่มีทางแยกอื่น ที่จะทำให้เกิดความหลงผิดแต่อย่างใด ใจก็ไหลทวนกระแสของกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ และเป็นไปในมรรคผลนิพพานในเวลาอันใกล้นี้