วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กาลามสูตรข้อที่ ๑.อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ได้ฟังตามๆกันมา

๑. อย่าได้เชื่อเพียงสักว่า ได้ฟังตามๆกันมา

การฟังตามๆกันมานั้น ที่เรียกว่าข่าวลือ เป็นไปได้ทั้งเรื่องผิดและเรื่องถูก เป็นเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องที่พูดต่อๆกันมา เป็นเรื่องในทางโลกบ้าง เป็นเรื่องในทางธรรมบ้าง ถ้าผู้พูดมีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องชอบธรรม ผู้ฟังก็จะเชื่อในทางถูกต้องชอบธรรม ถ้าผู้พูดมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด เราก็จะได้รับฟังและเชื่อไปในทางที่ผิดๆเช่นกัน เหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงให้สติแก่พวกเราว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพียงสักว่าฟังตามๆกันมา ให้เอาเรื่องที่ได้รับฟังมานั้นเป็นข้อคิด เมื่อได้ฟังมาในเรื่องใด อย่าได้ตัดสินใจเชื่อในเรื่องอะไรเร็วเกินไป ต้องฟังโดยมีสติปัญญา ให้พิจารณาในเหตุผลก่อนว่า เรื่องนี้พอเชื่อถือได้หรือเชื่อถือไม่ได้ ให้ใช้หลักธรรมาธิปไตยมาเป็นเหตุผล ในการตัดสินใจเชื่อถือ
ศรัทธาหมายถึงความเชื่อ แต่ต้องเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อเท่านั้น เช่นเชื่อว่าอุบายแนวทางในการปฏิบัติอย่างนี้ มีเหตุผลพอเชื่อถือได้ จึงตัดสินใจเชื่อ แนวปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เราก็ไม่เชื่อ ฉะนั้น การฟังธรรมมิใช่ว่าจะเอาความเชื่อเป็นหลักอย่างเดียว ต้องมีสติปัญญาพิจารณาในเหตุผล ให้เข้าใจความผิด ความถูกต้องในธรรมนั้นด้วย ฟังให้รู้จักในความหมายใช้ปัญญามาวิจัยวิเคราะห์ พิจารณาในหมวดธรรม ให้เข้าใจด้วยตัวเอง มิใช่ว่าจะคอยฟังจากที่พูดต่อๆกันมาว่าถูกต้องทั้งหมด

เพราะฉะนั้นการฟังตามๆกันมา จะมีผิดเพี้ยนไปได้ มีหลายประเทศที่ฟังตามๆกันมาแล้วเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จึงกลายเป็นลัทธิประเพณีไปถึงลูกหลานคนยุคใหม่ ได้ฟังมาก็เชื่อไปตามคนรุ่นเก่า พากันเอาแบบอย่างเชื่อติดต่อกันเรื่อยมา ความเชื่อต่อๆกันมานี้มีทั้งผู้นับถือศาสนา และผู้ไม่นับถือศาสนาอะไร เพราะในโลกนี้มีคนเชื่อไปตามลัทธิประเพณี ติดต่อกันมายาวนาน และปลูกฝังนิสัยให้มีความเชื่อไปตามๆกันเท่านั้น และห้ามอย่างเด็ดขาดลงไปว่า อย่าไปหาเชื้อชาติวงศ์ตระกูลพระเจ้าที่เชื่อถือต่อๆกันมานั้น เป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงได้อยู่ในฐานะอันยิ่งใหญ่จนได้รับขนานนามว่าพระเจ้า ถ้าจะเล่าเรื่องความเชื่อในพระเจ้านี้ ก็เป็นความเชื่อต่อๆกันมาตามประเพณี ในโลกนี้พระเจ้าที่คนให้ความเคารพเชื่อถือมีมากทีเดียว นี้ก็เป็นความเชื่อฟังต่อๆกันมา จะมีอยู่เป็นคู่ของโลกนี้ตลอดไป ถ้าได้เข้าใจในภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ จะมีความรู้ดีว่า แต่ละประเทศในอดีตมีความเป็นมาอย่างไร ก็เพราะได้ฟังต่อๆกันมา เมื่อผู้พูดหลงลืมในตำรา การพูดก็มีความผิดเพี้ยนไปได้ ผู้รับฟังก็จำเอาความผิดเพี้ยนนี้พูดต่อๆกันไป ทำให้คนยุคใหม่เชื่อต่อๆกันไปอีก จะไม่มีที่สิ้นสุดในเรื่องของความเชื่อนี้แต่อย่างใด

การฟังตามๆกันมาอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เรื่องการทำน้ำอัฐบาน มี พระ เณร แม่ชี ฆราวาส ที่ไม่เข้าใจในคำว่าน้ำอัฐบานที่ถูกต้อง มีจำนวนมาก ต้นเหตุ คือ พระอ่อนการศึกษาในพระธรรมวินัย ตีความหมายในคำว่า น้ำอัฐบานผิดไป เพียงเข้าใจเอาเองว่า น้ำอัฐบานคือใช้ผ้ากรอง ๘ ครั้ง พระจึงจะฉันได้ การตีความหมายอย่างนี้ เป็นการตีความผิดเป็นอย่างมากทีเดียว ที่จริงคำว่า น้ำอัฐบาน หมายถึงผลไม้ ๘ ชนิด ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้นำมาทำเป็นน้ำอัฐบานได้ ไม่ใช่ว่ากรอง ๘ ครั้งตามความเข้าใจ หรือใช้ผ้า ๘ ชั้นมากรองก็ไม่ใช่เช่นกัน ความหมายที่ถูกต้องคือ เอาผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง มาทำเป็นน้ำอัฐบาน ใส่น้ำพอสมควร แล้วนำมากรองด้วยผ้า จะกรอง ๑ ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้ ข้อสำคัญคือ ไม่ให้น้ำอัฐบานนั้นมีกากเท่านั้น จึงฉันได้ ถ้ากรองแล้ว น้ำยังมีกากปะปนอยู่ พระฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ผิดศีลข้อวิกาลโภชนา จัดเข้าเป็นประเภทอาหาร ให้ท่านได้ไปศึกษาจากหนังสือ บุพเพสิกขาวรรณนา ดู ท่านจะรู้วิธีการทำน้ำอัฐบานที่ถูกต้อง

ผลไม้ที่นำมาทำน้ำอัฐบานมี ๘ อย่าง ดังนี้ ๑. มะม่วงดิบหรือสุก ๒. ลูกหว้าสีชมพู ๓. กล้วยมีเมล็ด ๔. กล้วยไม่มีเมล็ด ๕. มะซาง ๖. ผลจันทน์ ๗. รากบัว ๘. มะปราง

ต่อมา ในยุคอรรถกถาจารย์ ได้พิจารณาเพิ่มเติมว่า นอกจากผลไม้ ๘ ชนิดนี้แล้ว ผลไม้อย่างอื่นก็นำมาทำน้ำอัฐบานได้ แต่มีข้อแม้ว่า ผลไม้นั้นจะไม่ใหญ่เกินผลมะตูม ให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้ อย่าฟังต่อๆกันมาโดยขาดเหตุผลและหลักฐาน

อีกเรื่องหนึ่งที่ฟังต่อๆกันมาจากพระที่เห็นแก่ปากท้อง ออกความคิดเพื่อจะได้ฉันตามความอยากของตน พูดไปว่า หัวไชเท้า หัวแครอท และหัวอย่างอื่น ก็นำมาทำน้ำอัฐบานได้ ที่จริงแล้ว น้ำอัฐบานจะนำมาทำได้เฉพาะผลไม้เท่านั้น พวกหัวทุกประเภทนำมาทำน้ำอัฐบานไม่ได้เลย เพราะหัวทุกชนิดจัดเข้าในหมวดหมู่ประเภทอาหาร ถ้าพระฉันก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ทั้งห้าอย่างนี้ เป็นพุทธานุญาต ฉันในเวลาวิกาลได้ ถ้าพระรับประเคนแล้ว ให้เก็บไว้ฉันได้ไม่เกิน ๗ วัน ถ้าเกิน ๗ วันแล้วพระฉัน จะเป็นอาบัติทุกคำกลืน

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง มาตีความไปว่า นมกล่องทุกประเภท น้ำเต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง น้ำยาคู และน้ำอื่นๆอีก สงเคราะห์เข้ากับเนยใสเนยข้น พระเณร แม่ชี และผู้รักษาศีล ๘ ฉันได้ ศีลไม่ขาด อาบัติไม่เป็น หารู้ไม่ว่า สิ่งเหล่านี้จัดเข้าประเภทอาหาร ฉันเวลาวิกาลไม่ได้ ต้องฉันไม่ให้เกินเวลาเที่ยงวันเท่านั้น หากมีพระองค์ใดล่วงละเมิดในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ก็จะพูดต่อๆกันไปขยายเป็นวงกว้าง ค้นหาผู้ปล่อยข่าวครั้งแรกก็ไม่ได้ จึงเป็นอันว่า ฟังตามๆกันมาและฉันตามๆกันมา ขอให้พวกเราทั้งหลายจงเข้าใจตามนี้

ฉะนั้นพวกเราเป็นชาวพุทธ ได้ฟังธรรมจากพระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านก็สึกษาพระธรรม แล้วนำเอามาอธิบายให้พวกเราฟังต่อๆกันมา ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาที่มีเหตุผล คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกหมวดหมู่มีเหตุผลเพียบพร้อมอย่างสมบูรณ์ เราต้องฝึกตัวเองให้เป็นผู้มีนิสัยสังเกตในการฟัง ตีความหมายในเรื่องที่รับฟังมาให้เข้าใจ เรื่องไหนผิดเรื่องไหนถูก เอามาวิจัยวิเคราะห์ พิจารณาให้รู้เห็นชัดว่า เรื่องนี้ผิดต้องละทิ้งไป เรื่องนี้ถูกให้ใฝ่ใจรักษาอยู่เสมอ ผู้อธิบายให้เราฟังได้ จะเป็นพระหรือฆราวาส ใครมีความรู้ความสามารถอธิบายความจริงให้เรารับฟังได้ จึงถือว่าผู้นั้นเป็นครูของเรา ใครเอาสิ่งที่ดีหยิบยื่นให้เราเมื่อไร เราจะน้อมกายใจ รับเอาของดีด้วยความเคารพ ถ้าเราเอาทิฏฐิมานะ อัตตา มาเป็นตัวนำหน้า คิดว่าเรารู้กว่าใครๆก็ยากที่จะรับธรรมจากคนอื่นได้ หรือหากได้รับฟังธรรมจากคนอื่น ก็ต้องพิจารณาในเหตุผลว่าพอเชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วไม่มีมูลเหตุผลพอจะเชื่อได้ก็อย่าไปสนใจ ถ้ามีเหตุผลพอเชื่อถือได้ ก็เอามาเป็นอุบายในการปฏิบัติต่อไป ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีเหตุผลและข้อมูลที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระพุทธศาสนาจะมีความเจริญ ก็เพราะชาวพุทธบริษัทปฏิบัติไปตามคำสอนของเรา พระพุทธศาสนาจะเสื่อม ก็เพราะชาวพุทธบริษัทไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา พระองค์ตรัสอย่างนี้มีความชัดเจนมาก
ฉะนั้นให้เรามาพิจารณาตัวเองว่า ขณะนี้เราทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม หรือทำให้พระพุทธศาสนาเจริญ ให้เรามีสติสังเกตดูตัวเองว่า เรามีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในภาคปริยัติการศึกษา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ถ้าตีความหมายถูกในปริยัติ เมื่อนำมาปฏิบัติก็เป็นสัมมาปฏิบัติ ผลที่ได้รับมีแต่ความถูกต้องชอบธรรม ถ้าตีความหมายในปริยัติผิด เมื่อนำไปปฏิบัติก็เป็นมิจฉาปฏิบัติ ผลที่ได้รับก็ไม่มีความถูกต้องชอบธรรม ไม่เป็นไปในความเจริญในธรรม ไม่เป็นไปในมรรคผลนิพพานแต่อย่างใด

ในสมัยครั้งพุทธกาล เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเรายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ พระพุทธเจ้าได้เผยแผ่คำสอนของพระองค์ยาวนานถึง ๔๕ ปี มีผู้รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าด้วยความตั้งใจ พากันได้บรรลุในมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก เทื่อพระพุทธเจ้าจะสิ้นอายุสังขาร พระองค์ก็ได้วางคำสอนของพระองค์เอาไว้ เพื่อเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า ดังพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตได้อนุปาทิเสสนิพพานแล้ว ให้พวกเธอทั้งหลายเอาพระธรรมวินัยเป็นองค์แทนเรา ให้พากันปฏิบัติตามคำสอนของเราตถาคตที่ได้ตรัสไว้แล้วอย่างชอบธรรม หลังพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ก็ยังมีพระสาวกทั้งหลายได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีความแตกฉานในพระธรรมวินัย ในช่วงต่อมา พระบางรูปมีความประพฤติตัวไม่เหมาะสมในพระธรรมวินัย จึงได้ทำสังคายนาถึง ๕ ครั้ง เพื่อเรียบเรียงพระธรรมวินัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคฎีกาจารย์ ยุคอนุฏีกาจารย์ ในยุคนี้ การตีความในคำสอนของพระพุทธเจ้าเริ่มเปลี่ยนไป การตีความในพระธรรมวินัยเริ่มคลาดเคลื่อน แล้วเอาความคลาดเคลื่อนในพระธรรมวินัยไปอบรมสั่งสอนต่อๆกันมา ผู้รับฟังก็ฟังตามๆกันมา พระพุทธเจ้าทรงทราบล่วงหน้าไว้แล้วว่า ในยุคต่อไปจะมีชาวพุทธเชื่อในคำสอนของพระองค์เพียงเชื่อตามๆกันมา นี้เองเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าได้ตรัสในเรื่องความเชื่อตามๆกันมา ว่าจะมีผลเสียต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร พระองค์จึงให้สติแก่พวกเราเอาไว้ว่า อย่าเป็นนิสัยเชื่ออะไรที่ขาดเหตุผล ถ้าคนแรกมีความเห็นผิดแล้วพูดผิด ผู้รับฟังก็เชื่อกันมาอย่างผิดๆ ถ้าคนแรกมีความเห็นถูกและพูดถูก ผู้รับฟังก็เชื่อในทางที่ถูกไปด้วย เขาผิดเราผิดด้วย เขาถูกเราถูกด้วย ผู้มีนิสัยอย่างนี้เรียกว่า พึ่งสติปัญญาของตัวเองไม่ได้เลย"

จะเอาบุคคลตัวอย่างมาอธิบายให้ฟัง เพื่อเราจะมีความสำนึกได้ว่า การเชื่อตามๆกันมาเป็นผลเสียอย่างไร เราจะได้รู้ในบุคคลตัวอย่างทางที่ไม่ดีเอาไว้ เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรกับใครมา เราจะได้เอาเรื่องนั้นมาพิจารณาให้รู้เหตุรู้ผลก่อนทุกครั้งแล้วจึงตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อในภายหลัง ดังที่จะอธิบายบุคคลตัวอย่างให้เราได้รับรู้ดังนี้ มีในสมัยที่ผ่านมา คณะศรัทธาที่มีความเชื่อง่ายไร้เหตุผล เป้นบุคคลที่หูเบาใจเบา เอาแต่ศรัทธาความเชื่อนำหน้าเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีสติปัญญาเป็นองค์ประกอบ จึงทำให้ศรัทธาความเชื่อผิดหวัง ดังที่มีข่าวเกิดขึ้นผ่านมา มีศรัทธาอีกกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อในครูอาจารย์ของตัวเอง
ครั้งแรกก็มีศรัทธาไม่กี่คน มีการวางแผนเพื่อหาผลประโยชน์ จึงได้ยกเอาครูอาจารย์ของตัวเองเป็นตัวชูโรง ประกาศให้คนนั้นคนนี้ฟัง เรื่องที่พูดไปล้วนแต่เป็นคำสรรเสริญในความโดดเด่นของครูอาจารย์ทั้งนั้น เฉพาะคำที่ว่า ครูอาจารย์เป็นผู้มีคุณธรรมระดับสูงนั้น หมายถึงครูอาจารย์เป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อข่าวนี้พูดต่อกันไปก็กลายเป็นข่าว มีสมาชิกเป็นแนวร่วมในความเชื่อมากขึ้น ข่าวนี้ก็กระจายออกไปเป็นวงกว้าง และมีคนสำคัญเข้ามาเพื่อให้ความสนับสนุน และมีความเชื่อว่าอาจารย์องค์นี้เป็นอรหันต์องค์จริง จึงได้ประกาศข่าวให้ชาวพุทธที่ไม่มีสติปัญญา มีความเชื่อว่า ท่านเป็นพระอรหันต์อย่างสนิทใจ จึงทุ่มเทเงินทองถวายเป็นจำนวนมาก เพราะถือว่าการให้ทานแก่พระอรหันต์จะได้รับผลบุญมหาศาลหาประมาณมิได้ ในที่สุดก็พากันผิดหวังเมื่อครูอาจารย์ของตัวเองมีนิสัยที่เปลี่ยนไป (ในบาลีว่า อิตฺถี มลํ พรหฺมจริยสฺส ผู้หญิงเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์) เมื่อครูอาจารย์ยังเป็นปุถุชนอยู่ ถึงจะยกให้เป็นพระอรหันต์ก็เพียงสักว่าพูดกันไปเท่านั้น เมื่ออาจารย์ของตัวเองมีเหตุให้เป็นไปตามอนิจจัง ลูกศิษย์ก็มีความผิดหวังไปตามๆกัน

มีลูกศิษย์หลายคนที่มีสติปัญญาอยู่บ้าง พอจะรู้ว่าการเชื่อจากคำบอกเล่าของคนนั้นเป็นความเชื่อตามๆกันมา เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นในเหตุแล้ว เชื่อถือไม่ได้เลย แล้วตีตัวออกห่างกันไป เหมือนกับคำว่า ปลาตัวเดียวเน่าทั้งข้อง เอาข้องปลาเทใส่กระจาด เลือกปลาที่เน่า ทิ้งเสีย เก็บปลาตัวที่ไม่เน่ามาทำเป็นอาหารได้ นี้ฉันใด เมื่อรู้แล้วและเข้าใจแล้ว พระองค์นี้มีความไม่เหมาะสมในสมณเพษแล้ว ก็ต้องแยกตัวออกไป เพื่อแสวงหาครูอาจารย์องค์อื่น เราผู้แสวงหาครูอาจารย์ต้องมีสติปัญญาสังเกตดูพระให้ดี เพราะยุคปัจจุบันนี้มีทั้งพระจริงและพระปลอมปะปนกันอยู่ ถ้าดูไม่ดีก็จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทำให้เกิดความผิดหวังซ้ำสองไปได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วว่า อย่าเพิ่งเชื่อในข่าวที่พูดต่อๆกันมาเร็วเกินไป ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาในเรื่องนั้นๆให้มีความรู้เห็นตามความเป็นจริงก่อนจึงเชื่อหรือไม่เชื่อในภายหลัง คิดว่าพวกเราทั้งหลายมีสติปัญญาช่วยตัวเองได้ จะไม่เชื่อไปตามข่าวลือที่พูดต่อๆกันมาเร็วเกินไป